กรุงไทยคอมพาสชี้ ไทยฉีดวัคซีนล่าช้ากว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว ค่อนข้างมาก

กรุงไทยคอมพาสชี้ ไทยฉีดวัคซีนล่าช้ากว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว ค่อนข้างมาก

รายงานข่าวจาก Krungthai COMPASS ระบุว่า ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวในกรอบ 1.5-3.0% การระบาดรอบนี้อาจกระทบเศรษฐกิจอย่างต่ำ 3 เดือน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมโรคว่าจะทำได้รวดเร็วเพียงใด โดยมองว่าสามารถควบคุมการระบาดได้ดีอาจกระทบเศรษฐกิจเพียง 3 เดือน แต่หากมีการเกิดการระบาดซ้ำซ้อน (Double-dip) ก็อาจจะกระทบเศรษฐกิจยาวนานถึง 6 เดือน

พร้อมจับตา 3 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ประการที่ 1: ความสามารถในการควบคุมโรคระบาดกลายพันธุ์ที่ต้องมีประสิทธิภาพและรัดกุม หากการควบคุมการระบาดขาดประสิทธิภาพหรือผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป อาจทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นกว่าเดิม และต่อเนื่องไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ ดังเช่นการระบาดแบบ 2 ระลอกติดกัน หรือ Double-dip ในเคสของประเทศอังกฤษ

สำหรับกรณีอังกฤษพบเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ (B.117) ครั้งแรก หลังเห็นสัญญาณตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เร่งตัวขึ้นอย่างมากในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. จากไม่ถึง 1 หมื่นรายต่อวัน จนพุ่งแตะ 3 หมื่นรายต่อวัน ก่อนอังกฤษจะ Lockdown ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี อังกฤษกลับต้องเผชิญการระบาดแบบ Double-dip หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันกลับมาพุ่งทำสถิติสูงสุดถึงเกือบ 7 หมื่นราย ซึ่งในครั้งนี้อังกฤษต้องยกระดับมาตรการควบคุมโรคให้ยาวนานขึ้นกว่าครั้งก่อน พร้อมกันนี้ยังเร่งระดมฉีดวัคซีนจนได้สัดส่วนผู้ฉีดวัคซีนสะสมเกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถควบคุมเชื้อกลายพันธุ์ได้เป็นผลสำเร็จ ก่อนจะประกาศทยอยผ่อนคลาย Lockdown ไปเมื่อไม่นานนี้

Advertisement

ประการที่ 2: การแจกกระจายวัคซีนในประเทศที่ต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด และจะทำให้ภาพของอุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูล Our world in data.org พบว่า ส่วนใหญ่ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) สูง จำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนสะสมก็จะสูงตามไปด้วยเมื่อเทียบกับประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำอย่างแถบอาเซียน

Advertisement

อย่างไรก็ดี ไทยซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน แต่กลับพบว่าจำนวนโดสสะสมของไทยอยู่ที่เพียง 1.0% ซึ่งต่ำกว่าเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาวค่อนข้างมาก ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้โอกาสที่วัคซีนจะกลายเป็น Game Changer จนสร้างเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ได้และพร้อมเปิดประเทศอาจต้องล่าช้าออกไป

ประการที่ 3: เม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจที่ต้องเป็นไปอย่าง “ตามเป้า-ต่อเนื่อง-ตรงจุด” ตามเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลืออยู่ราว 2.2 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะถูกนำมาใช้ต่อยอดจากโครงการเดิมที่มีกระแสตอบรับดี เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน หรือเราชนะ เป็นต้น ซึ่งจะเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เสริมให้เศรษฐกิจอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 1.5%

นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินที่สามารถจัดสรรจากงบกลางได้อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ภาครัฐยังต้องคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน (K-shape Recovery) โดยเฉพาะการขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image