ทั่วโลกฉีดวัคซีนฟื้น ศก.โลก ชี้ตัวแปรส่งออกไทยฟื้น พณ.จับมือเอกชน ดันมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลล์ต่อเดือน

ทั่วโลกฉีดวัคซีน ฟื้น ศก.โลก ตัวแปรส่งออกไทยฟื้น พณ.จับมือเอกชน ดันมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลล์ต่อเดือน ลุ้นโต 6-7%

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่า 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และขยายตัว 8.47% เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับจากพฤศจิกายน 2561 เมื่อคิดเป็นค่าบาทจะมีมูลค่า 719,051 ล้านบาท ขยายตัว 4.05 % สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลก

นายภูสิตกล่าวว่า ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ขยายตัว 6% จากเดิมคาด 5.5% ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะปรับตัวดีขึ้น การจัดซื้อโลกสูงสุดรอบ 10 ปี ซึ่งการส่งออกเดือนมีนาคม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะขยายตัวถึง 11.97 % สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจจริง

นายภูสิตกล่าวว่า ทำให้ไตรมาสแรก 2564 ไทยการส่งออกมูลค่า 64,148 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.27% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ไตรมาสแรกขยายตัว 7.61%

Advertisement

ทั้งนี้ สินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีและเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกเดือนมีนาคม ได้แก่ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เหล็ก เคมีภัณฑ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง

สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง เป็นต้น ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและอาเซียน

นายภูสิตกล่าวต่อว่า สำหรับการนำเข้าเดือนมีนาคม มีมูลค่า 23,512 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่า 708,095.57 ล้านบาท) ขยายตัว 14.12 % ทำให้ไทยได้ดุลการค้า 710.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,955.27 ล้านบาท) ทำให้ไตรมาสแรกของปี 2564 การนำเข้ารวม 63,632 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่า 1,907,932ล้านบาท) ขยายตัว 9.37 %และได้ดุลการค้ารวม 515.66 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินบาทขาดดุล 12,097 ล้านบาท)

“จากทิศทางการส่งออกจากนี้จะดีขึ้น กระทรวงพาณิชย์จะประชุมหารือกับภาคเอกชน เพื่อทบทวนสถานการณ์และตัวเลขการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร รวมถึงตลาดส่งออก ซึ่งมั่นใจว่าปีนี้ การส่งออกจะสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 4%

“ส่วนตัวเลขใหม่จะเป็นเท่าไหร่แน่ จะขอหารือกับภาคเอกชนก่อน ทั้งนี้ การคาดการณ์ตัวเลขส่งออก 4 % คำนวณจากแต่ละเดือนมูลค่าเฉลี่ยส่งออกเกิน 19,490 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหาก 9 เดือนที่เหลือปีนี้ส่งออกเดือนละ 20,137 ล้านเหรียญสหรัฐ จะโต 6% ส่งออก 20,391 ล้านเหรียญสหรัฐ จะโต 7% ซึ่งหวังว่าจะส่งออกได้เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน” นายภูสิตกล่าว

นายภูสิตกล่าวต่อว่า การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวก จาก 1.การฟื้นตัวภาคการผลิตของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 2.ประสิทธิภาพของการกระจายวัคซีน ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น 3.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มส่งผลในทางบวกต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภคของประชาชน และ 4.ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว คาดว่าจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

นายภูสิตกล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ 1.อุปสรรคการค้าชายแดนในเมียนมา โดยเฉพาะการประท้วงที่เกิดขึ้นยาวนาน อาจส่งผลต่อกำลังซื้อของเมียนมาในภาพรวม 2.ต้นทุนค่าระวางขนส่งทางเรือของผู้ประกอบการอาจสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และ 3.เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแผนเร่งรัดการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะข้าวที่มีการกำหนดเป้าหมาย การส่งออกข้าวในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ 6 ล้านตัน มุ่งเน้น3 ตลาดสำคัญ คือ ตลาดพรีเมียม ตลาดทั่วไป และตลาดเฉพาะ

พร้อมเพิ่มการใช้ประโยชน์จาก FTA และ MOU ที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการส่งออก รวมทั้งให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศประสานงานกับผู้ส่งออก-นำเข้า สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้ข้าวไทย และเตรียมจัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 เพื่อโปรโมตสินค้าอาหารของไทยในเดือนพฤษภาคม

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการเปิดตลาดใหม่ โดยขยายการส่งออกสินค้าไปยังประเทศปานามา เพื่อใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เม็กซิโก อเมริกากลางและอเมริกาใต้ตอนบน อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image