‘วีริศ’เครื่องร้อน ลุยกระตุ้นลงทุนช่วงโควิด – ผุดแพคเกจสวล.-ตั้งบ.ลูกลุยธุรกิจใหม่

‘วีริศ’ผู้ว่ากนอ.คนใหม่เครื่องร้อน!! ประกาศกระตุ้นลงทุนช่วงโควิด – ผุดแพคเกจสวล.-ตั้งบ.ลูกลุยธุรกิจใหม่

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินงาน ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กนอ. จะสานต่องานเดิมที่วางไว้ แต่จะปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แบ่งเป็น 6 กลุ่มใหญ่ที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ เร่งหาแนวทางการดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งมาตรการการตลาดและมาตรการเชิงรุกออกไปหารือกับนักลงทุนโดยตรง ทั้งนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ 2.เร่งสานต่อนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ได้แก่ โครงการสมาร์ท ปาร์ค โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 เป็น 2 โครงการหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และผลักดันนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (เอสอีแซด) ได้แก่ นิคมฯ สระแก้ว นิคมฯ สงขลา เร่งดึงดูดการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เศรษฐกิจดี จ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าชายแดนเพิ่มสูงขึ้นด้วย

3.แผนลดความเสี่ยงในทุกด้านที่จะกระทบต่อการดำเนินกิจการในนิคมฯ ของ กนอ. โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำและพลังงาน ให้เพียงพอทั้งในปัจจุบันและอนาคต แนวทางเหล่านี้บางส่วนกนอ.ดำเนินการจะเร่งผลักดันเต็มที่ แต่บางมาตรการอาจต้องใช้เงินลงทุนสูงจึงมีแผนร่วมมือกับบริษัทพันธมิตรที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำเข้ามาร่วมลงทุน นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า โดยจะเร่งจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอในระยะยาว

นายวีริศ กล่าวว่า 4.สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด โดยมีแผนจัดหามาตรการสิทธิประโยชน์สนับสนุนให้กับโรงงานที่มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องเป็นสิทธิประโยชน์ที่จับต้องได้จริง โดยจะเข้าไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กรมสรรพากร และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำสิทธิประโยชน์ให้กับโรงงานที่ได้มาตรฐานในระดับสูง ส่วนโรงงานที่ดำเนินการไม่ถูกต้องและปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจะมีมาตรการเข้มงวด มาตรการทั้ง 2 ด้านนี้จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

รวมทั้ง 5.สร้างความก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับ กนอ. ขณะนี้มีแผนหาช่องทางธุรกิจใหม่ อาทิ การตั้งบริษัทลูก หรือร่วมทุนในธุรกิจใหม่ๆ บริหารสินทรัพย์และบุคลากรให้มีประสิทธิภาพคล่องตัวมากขึ้น และผลักดันให้บริษัทลูกเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อให้เกิดการระดมทุนและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างรายได้ระยะยาวให้กับ กนอ. และ 6.พัฒนาบุคลากรโดยการเสริมศักยภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านไอที ระบบดิจิทัล และแพลตฟอร์มใหม่ๆ รวมทั้งพัฒนาด้านภาษาให้พนักงานที่ควรจะสื่อสารภาษาที่ 3 ได้ นอกจาก ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะนักลงทุนในนิคมฯ มาจากต่างชาติทั่วโลก ดังนั้นหากมีทักษะทางภาษาที่ดี ก็จะช่วย ยกระดับการให้บริการที่ดีขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image