‘บีทีเอส’ ลุยฟ้อง กทม. ค้างหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 3 หมื่นล้าน

‘บีทีเอส’ ลุยฟ้อง กทม. ค้างหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 3 หมื่นล้าน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือติดตามหนี้กับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งถือเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ ปัจจุบัน กทม. ค้างชำระหนี้การเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งค้างชำระกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท/ปี แบ่งเป็น หนี้ค่าจ้างเดินรถประมาณ 1.09 หมื่นล้านบาท และค่าซื้อระบบการเดินรถ อาทิ ไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 2.07 หมื่นล้านบาท

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ล่าสุด ตามที่เป็นข่าวของการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สภา กทม. ได้ปฏิเสธการใช้งบประมาณ ของกทม.มาชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหารในการขอให้รัฐบาลสนับสนุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชน ตามแนวทางคำสั่งของ คณะรักษา​ความสงบ​แห่งชาติ​ (คสช.)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี

“รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวในโลกที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ที่เอกชนลงทุนเอง 100% ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องแบกรับหนี้จำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันก็จะแบกหนี้ไม่ไหวแล้ว บริษัทฯ จึงยืนยันที่จะเดินหน้าฟ้อง กทม. ตามกฎหมายต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาทนาย เบื้องต้นจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองโดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และยืนยันว่าจะให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการให้น้อยที่สุด” นายสุรพงษ์ กล่าว

Advertisement

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากหนี้ที่มีอยู่ 3 หมื่นล้านบาท/ปี ส่งผลให้ตอนนี้ทางบริษัทฯ ได้ไปกู้ธนาคารเพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท ตามยอดหนี้ค้างชำระของ กทม. ซึ่งบริษัทฯ ต้องเสียดอกเบี้ยจากการกู้เงินกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ หากปัญหาดังกล่าวลากยาวไปถึงปี 2572 ถ้ายึดสมมติฐานการเก็บค่าโดยสารที่ 15 บาท หนี้สะสมจะอยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ค่าจ้างเดินรถ ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ค่าซื้อระบบการเดินรถ ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น ทางบริษัทฯ จึงได้ตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อซัพพอตหนี้ที่ทางบีทีเอสแบกรับอยู่ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หากยังไม่มีการชำระหนี้จาก กทม. จะส่งผลให้กองทุนนี้จะไม่มีการปันผลให้กับสมาชิกกว่า 1.01 แสนราย ตั้งแต่ปัจจุบัน-ปี 2572 หรือเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image