จอดป้ายประชาชื่น : กรรมของประชาชน

จอดป้ายประชาชื่น : กรรมของประชาชน บีทีเอส อัดคลิปทวงหนี้รัฐบาล

จอดป้ายประชาชื่น : กรรมของประชาชน

เป็นประเด็นที่ฮือฮามากจากคลิปวิดีโอกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส อัดคลิปทวงหนี้รัฐบาลกว่า 3 หมื่นล้านบาท ลงยูทูบ พร้อมทั้งเผยแพร่บนจอโฆษณาในรถไฟฟ้าบีทีเอสด้วยเช่นกัน ทำให้ประชาชนเกิดการตั้งคำถามมากมาย จากประโยคที่พูดว่า “ข้อเท็จจริงจากสภาพปัญหาดังกล่าว บริษัทได้พยายามอย่างที่สุดที่จะร่วมรับผิดชอบ ที่จะร่วมหาแนวทางแก้ไขข้อขัดข้อง แต่ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาที่ซ้อนปัญหาอยู่ภายใน ซึ่งบริษัทไม่สามารถก้าวล่วงได้”

ก่อนหน้านี้ทาง กทม.เคยออกประกาศขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ราคาสูงสุดถึง 104 บาท จนทางกระทรวงมหาดไทยออกมาเบรกเรื่องนี้

ความคาดหวังของผู้มีอำนาจ เมื่อตอนมีมาตรา 44 ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 คือการรวบสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทั้งสาย ไปจบที่ปี 2602 กำหนดราคาค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท พร้อมรับหนี้สินค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายไปด้วย โดยให้ บีทีเอสเจ้าเดียวเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการ

Advertisement

แต่จนมาถึงปัจจุบัน ทาง ครม.ยังไม่มีมติอนุมัติการรวบสัมปทานตัวนี้ โดยก่อนหน้านี้ทางกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องนี้ มีมติคัดค้านการต่ออายุสัมปทาน อีกทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายค้านได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาโจมตีรัฐบาลอย่างดุเดือด

อีกทั้งงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้า คิดเป็น 28% เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 336 บาท ใน กทม. ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่างประเทศเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ อาทิ กรุงลอนดอน เพียง 5% กรุงโตเกียว 9% สิงคโปร์ 5%

ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกมาจุดประเด็นปัญหาดังกล่าว ด้วยการทำแคมเปญ #ไม่เอา65บาท38ปี ซึ่งได้มีการเสนอค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 25 บาท ทางบีทีเอสจะมีรายได้ตลอดอายุสัมปทาน 357,000 ล้านบาท และเหลือส่งคืนรัฐ 23,200 ล้านบาท

Advertisement

สุดท้ายแล้วไม่ควรเอาประชาชนเป็นตัวประกัน เพราะนี่คือ สาธารณูปโภคพื้นฐานที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image