สกู๊ปหน้า 1 : 4 ทีมขุนพลเอกชน ผนึกสู้โควิด-19

สกู๊ปหน้า 1 : 4 ทีมขุนพลเอกชน ผนึกสู้โควิด-19

หลังจากหอการค้าไทยได้จัดประชุมระหว่างหอการค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ บริษัทชั้นนำของประเทศไทยกว่า 40 บริษัท ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 ที่หนักหน่วงกว่าการระบาดโควิดรอบที่ผ่านมา กระทั่งการประชุมได้ตกผลึก แบ่งการทำงานเป็น 4 ทีม มุ่งเป้าหมายการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้คนไทยโดยเร็ว

4 ทีมที่ว่าทำหน้าที่อะไรบ้างเพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมาย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย อธิบายรายละเอียดอีกครั้งว่า การแบ่งหน้าที่ให้กับ 40 บริษัทขนาดใหญ่ โดยแบ่งเป็น 4 ทีมนั้น ได้แก่

1.ทีมสนับสนุนการ กระจายและฉีดวัคซีน ในระยะแรกได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ที่เอกชนจะนำร่องไว้ จำนวน 10 พื้นที่ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล เอสซีจี เดอะมอลล์ สยามพิวรรธน์ เอเชียทีค โลตัส บิ๊กซี และทรูดิจิทัลพาร์ค เป็นต้น โดยจะสรุปกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใน วันที่ 27 เมษายนนี้ ในระยะถัดไปจะมีการศึกษา และหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ รวมถึงใช้พื้นที่โรงงาน หรือนิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนด้วย เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน

โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่งได้มีการจัดทำรูปแบบมาตรฐานของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ สำหรับพื้นที่ที่รองรับการฉีดได้ทั้ง 2,000 คน/วัน และ 1,000 คน/วัน เพื่อให้เป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดหรือพื้นที่อื่นๆ

Advertisement

ซึ่งทีมงานนี้ได้มีการมอบหมายให้ นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหารหอการค้าไทย เป็นหัวหน้าทีมในการประสานต่อไป

2.ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อมเพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน หลายคนไม่ยอมฉีด ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ภาครัฐจะทำระบบหมอพร้อมเสร็จสิ้นในเดือนเมษายนนี้ จะสามารถระบุสถานที่ต่างๆ ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน เพื่อการจัดคิวการฉีดที่ไม่หนาแน่น หรือลำดับการฉีดที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท อาสาเป็นทีมงาน อาทิ กูเกิล ไลน์ เฟซบุ๊ก ทรู โลตัส และทีซีพี เป็นต้น

Advertisement

โดยทีมนี้ ได้ให้ นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมงาน

3.ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ มีหลายบริษัท นำทีมโดยบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเอ็มบี เข้ามาสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ ร่วมกับหอการค้าไทย ในการลงพื้นที่กับทีมของ กทม. จะจัดทำข้อเสนอในการนำเทคโนโลยีมาช่วย

โดยทีมนี้ได้ น.ส.ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมงาน

4.ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน จะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นำทีมโดย นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการอาวุโสหอการค้าไทย และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ภาคเอกชนประเมินว่ายังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ จากที่ปัจจุบันภาครัฐจัดหามาได้ 63 ล้านโดส

ซึ่งวัคซีนทางเลือก ที่หารือกันนั้น ได้แก่ 1.ประเทศสหรัฐ วัคซีน Moderna และ Pfizer 2.ประเทศจีน วัคซีน Sinopharm และ CanSino Biologics 3.ประเทศอินเดีย วัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech และ 4.ประเทศรัสเซีย วัคซีน Sputnik V

โดยจากการประชุมภาคเอกชนยินดีที่จะจ่ายค่าวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัทรวมแล้วเกือบ 1 ล้านราย เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับรัฐบาล

ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ภาคเอกชนอยู่ระหว่างแบ่งสัดส่วนในการดำเนินการ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่จะจัดซื้อวัคซีนต่อจากรัฐบาล เพื่อมาจัดจำหน่ายเป็นวัคซีนทางเลือกฉีดให้กับประชาชนทั่วไปที่มีกำลังทรัพย์และไม่อยากจะรอรับการฉีดวัคซีนจากภาครัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลของจำนวนความต้องการวัคซีน

2.ส่วนสำหรับการฉีดให้บุคลากรในภาคเอกชน โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการใช้จ่ายเองตามความสมัครใจของแต่ละองค์กรและบริษัท

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลว่า ส.อ.ท.ประเมินสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงจึงต้องการให้ภาครัฐเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนโดยเร็ว และเพียงพอ ดังนั้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงจัดประชุมกรรมการบริหาร ส.อ.ท.นัดพิเศษ มีมติตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 ชุด ประกอบด้วย ชุดจัดหาวัคซีน ชุดกระจายวัคซีน ชุดความเชื่อมั่น และชุดอำนวยการ

จากนั้นได้นำข้อเสนอดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งหอการค้าฯมีแนวคิดตั้งคณะทำงาน 4 ชุดทำหน้าที่คล้ายกัน ที่ประชุม กกร.จึงมีมติร่วมตั้งคณะทำงาน 4 ชุด และเตรียมหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วันที่ 28 เมษายนนี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน ทั้ง 4 ทีมของ ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับ 4 ทีมของหอการค้าฯแล้ว ได้ข้อสรุปว่าจะนำเสนอความเห็นของทั้ง 2 องค์กร เสนอผ่าน กกร. ไปยังนายกฯเพื่อความคล่องตัว และรวดเร็วในการทำงาน

คณะทำงานขึ้น 4 ชุดของ ส.อ.ท. ประกอบด้วย ชุดจัดหาวัคซีน มีนางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูลเป็นหัวหน้าคณะ ชุดกระจายวัคซีน มีนางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง เป็นหัวหน้าคณะ ชุดความเชื่อมั่น การสื่อสาร มีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล เป็นหัวหน้าคณะ และชุดอำนวยการผ่านเทคโนโลยี มีนายสมโภชน์ อาหุนัย เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งปริมาณวัคซีนที่ภาคเอกชนต้องการฉีดให้แรงงานเบื้องต้นอยู่ที่ 5 ล้านโดส แต่ต้องดูข้อมูลอัพเดตวันที่ 28 เมษายนอีกครั้งว่าจะสรุปที่เท่าไร

สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนของเอกชน ส.อ.ท.ได้ประสานโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้จัดพื้นที่ภายในโรงงานให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน และเตรียมใช้สถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) ของบางจากที่มีทั่วประเทศกว่า 1,200 สถานี ล่าสุดคลินิกเสริมความงามกว่า 50 บริษัท ที่มีสาขาทั่วประเทศ ได้แจ้งความประสงค์ว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือช่วยภาครัฐฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแต่ละพื้นที่ โดยทางคลินิกเสริมความงามมีความพร้อม ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาล เชื่อว่าจะอำนวยความสะดวกประชาชนได้มากแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image