แรงงานไทย98%แบกหนี้อ่วม พุ่ง 29% จากก่อนโควิด วิตกป่วยนิวไฮ ชะลอใช้จ่ายสูญ3แสนล้าน

แรงงานไทย98%แบกหนี้อ่วม พุ่ง 29% จากก่อนโควิด วิตกติดเชื้อนิวไฮ ชะลอใช้จ่ายสูญ3แสนล้าน

วันที่ 27 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2564 สำหรับกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จากผู้ใช้แรงงาน 1,256 ราย ระหว่างวันที่ 18-22 เมษายน 2564 พบว่า สัดส่วน 98.1% ของแรงงานไทย ระบุมีภาระหนี้สิน ถือว่าสูงสุดจากที่เก็บช้อมูลมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จากหาเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จ่ายหนี้เดิม จ่ายหนี้บัตรเครดิต จ่ายค่าการศึกษาและค่าอินเตอร์เพื่อการศึกษา และราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

โดย 45.5% ระบุมีรายได้เท่ารายจ่าย และ 82% ระบุอัตรารายได้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้ว ทำให้ 85.1% เจอภาวะผิดนัดชำระหนี้ และ 60% ระบุภาระหนี้กระทบต่อการใช้จ่ายต้องลดลง และไม่สามารถออมเงินได้ อีกทั้ง 71.5% ระบุว่าสถานการณ์ตอนนี้มีปัญหารายได้ไม่พอใช้จ่ายแล้ว ทำให้แรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 1. 5หมื่นบาท/เดือน มีหนี้ครัวเรือน 206,000 บาท เพิ่มขึ้น 29.56% แยกเป็นหนี้ในระบบ 71% หนี้นอกระบบ 29% จากปี 2562 ที่มียอดหนี้ 159,000 บาท ถือเป็นภาระหนี้สูงสุดจากเก็บสำรวจมา 12 ปี

“จากการสำรวจสะท้อนว่ารายได้แรงงานที่มีรายได้ขั้นต่ำ อยู่ในภาวะตึงตัวสูง จากแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ปัญหาค่าครองชีพสูง ต้องก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินออมในกลุ่มนี้หดตัวกว่า 30% ต้องประหยัดใช้จ่ายมากสุด ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ จึงจะกระทบตรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต และสะท้อนได้จากสำรวจเงินใช้จ่ายวันแรงงานที่ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี แรงงานกว่า 66% ระบุบรรยากาศวันแรงงานปีนี้ไม่คึกคัก ลดใช้จ่ายเหลือ 1,793 บาท/คน ลบ 19.7% จากปี 2562 เป็นการติดลบปีแรกและทุบสถิติต่ำสุดรอบ 9 ปี ซึ่งในการสำรวจแรงงาน 37% แสดงความวิตกว่ามีโอกาสตกงานสูง เฉพาะกลุ่มรับจ้างรายวันและภาคบริการ วิตกถึง 64.2%” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ภาคแรงงานต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการมากสุด คือ กระตุ้นใช้จ่ายและฟื้นเศรษฐกิจ ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และลดปัญหาค่าครองชีพ ผ่านมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ โดบเฉพาะโครงการคนละครึ่ง โดยแรงงานเห็นด้วยที่จะฉีดวัคซีนโดยเร็ว เร่งหยุดการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดและทบทวนอัตราจ้างแรงงานขั้นต่ำเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังไม่พบสัญญาณการเลิกจ้าง คาดอัตราว่างงานยังอยู่ 1.5-1.6%

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 3 จากจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง และรัฐเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่และกิจกรรม จะทำให้การใช้จ่ายต่อวันลดลงเพิ่มเป็น 30-40% 0หรือหายไปวันละ 6,000 ล้านบาท จากเดิมประเมินไว้ลบ 10-20% หรือเงินหายไป 3,000 ล้านบาทต่อวัน โดยประเมินว่ารัฐจะคลี่คลายได้ภายใน 2 เดือนหรือภายในมิถุนายนนี้ เงินใช้จ่ายก็จะหายไปประมาณ 3 แสนล้านบาท อาจเพิ่มเป็น 3.5-4.5 แสนล้านบาท

หากหลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่น้อยกว่า 100 คนต่อวัน อาจมีผลต่อจิตวิทยา ชะลอใช้จ่ายเดือนละ 1 แสนล้านบาท และอาจเสี่ยงต่อการเลิกจ้างและอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ที่สำคัญแรงงานระบุหากตกงานเงินที่มีรอยู่พอใช้จ่ายได้แค่3-4 เดือนเท่านั้น และมองว่าโอกาสหางานใหม่ยากขึ้น

“ รัฐเตรียมเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาท ก็จะเป็นตัวเลขที่เข้าทดแทนเงินใช้จ่ายในระบบหายไป จะช่วยพยุงในเศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังบวกได้ 5% จากปีก่อนที่ติดลบสูง แต่หากโควิดระบาดรอบใหม่และจำนวนตัวเลขไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยะ รัฐอาจใช้การตั้งกรอบกู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาทได้ ซึ่งก็เพิ่มก่อหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จาก 60 % เป็น 65% ก็ยังทำได้ไม่ผิดวินัยการเงินการคลัง ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเองก็ต้องดูถึงจำนวนผู้ติดเชื้อ และแผนการเปิดประเทศรับต่างชาติเข้ามาให้ได้ในไตรมาส3 และ ผลักดันการส่งออก คาดปีนี้จะโตได้ 5% “ นายธนวรรธน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image