สศค.ปรับลดจีดีพีปี 64 เหลือ 2.3% คาด นทท.ต่างชาติลดจากเดิม 70% รายได้เหลือ 1.7 แสนล้าน

สศค.ลดจีดีพี ปี64 เหลือ 2.3% ผลจากโควิด-19 รอบใหม่ ปรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 2 ล้านคน ลดจากคาดการณ์เดิม 70% รายได้เหลือ 1.7 แสนล้านบาท แต่ยังมีปัจจัยหนุน จากเงิน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ-ส่งออกไทยขยายตัว 11%

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 2.3%ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ 1.8-2.8%) ปรับตัวลดลงจากประมาณการเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ 2.8%ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

น.ส.กุลยากล่าวว่า สศค.จึงปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศลดลงเหลือ 2 ล้านคน จากเดิมคาดว่า 5 ล้านคน โดยลดลง 70% ต่อปี เพราะนอกจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ยังมีข้อกำกัดเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เปิดเฉพาะบางพื้นที่นำร่อง จากสมมติฐานดังกล่าว คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 1.7 แสนล้านบาท ลดลง 49% จากเดิมคาด 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ส่งผลกระทบต่อการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้เป็นอย่างมาก

น.ส.กุลยากล่าวว่า อย่างไรก็ดี ส่วนที่จะเข้ามาช่วยเหลือเศรษฐกิจได้ เป็นเม็ดเงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าสุด 22 เมษายน อนุมัติวงเงินไปแล้ว 7.62 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออยู่กว่า 2.37 แสนล้านบาท โดยเบิกจ่ายไปแล้ว 6.49 แสนล้านบาท หรือ 85.4% ของวงเงินอนุมัติ แบ่งเป็นการเบิกจ่ายใช้ในปี 2563 วงเงิน 3.47 แสนล้านบาท และเบิกจ่ายใช้ในปี 2564 วงเงิน 3.02 แสนล้านบาท

น.ส.กุลยากล่าวว่า ซึ่งจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบนี้ ทำให้มีการเร่งการเบิกจ่ายในปี 2564 เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท เป็น 6.02 แสนล้านบาท จากตัวเลขประมาณการณ์เดิม 5.02 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินมาตรการเยียวยาและทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งสรุปมาตรการภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการอนุมัติโครงการกู้จนเต็มวงเงิน1 ล้านล้านบาทภายในเดือนกันยายนนี้ โดยกันเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท สำหรับใช้ในปี 2565

Advertisement

น.ส.กุลยากล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมาตรการทางการคลังและการเงินที่ประเทศต่างๆ ดำเนินการ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัว 11% ต่อปี

น.ส.กุลยากล่าวว่า ประกอบกับการดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม33เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และการเบิกใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.3% และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.8% ขณะที่การบริโภคภาครัฐ 5% และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 10.1%

น.ส.กุลยากล่าวว่า สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.4% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.2% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปรับลดลงจากปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมูลค่าสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

น.ส.กุลยากล่าวว่า ทั้งนี้ ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) การระบาดของโควิดระลอกใหม่ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ 2) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4) ความผันผวนของระบบการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

น.ส.กุลยากล่าวว่า อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านดิจิทัล และนโยบายการยกระดับปรับทักษะแรงงาน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image