รสนาค้านต่อสัมปทานสายสีเขียว หากยึดราคา 65 บาทต่อเที่ยว แนะรัฐบาลเดินรถเอง

วันที่ 30 เม.ย. นางรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงกรณีการพยายามเร่งต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างสูง เพราะเงื่อนไขของการต่อสัมปทานก็คือการเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ซึ่งมองว่าแพงเกินจริง เพราะตามเอกสารของบีทีเอสซี ในปี 2557 ก็ระบุรายละเอียดของการเดินรถในส่วนกรุงเทพชั้นในที่เป็นสัมปทานเดิมของบีทีเอส พบว่ามีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 17 บาทต่อเที่ยว ซึ่งรวมถึงต้นทุนค่าก่อสร้างพื้นฐานที่บริษัทเอกชนจ่ายไปก่อนแล้วเก็บคืนจากค่าโดยสาร ดังนั้นหากมีการต่อสัญญาสัมปทานหลังจากปี 2572 ไปอีก 30 ปี เท่ากับว่าบริษัทเองไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ดังนั้นการเก็บค่าโดยสารที่ราคา 65 บาทต่อเที่ยวจึงแพงเกินไปและผลักภาระให้กับประชาชน
นางรสนา กล่าวว่า นอกจากนี้เหตุผลที่อ้างในการต่อสัมปทานไปอีก 30 ปี โดยนำเรื่องหนี้ค่าก่อสร้างส่วนต่อขยาย 2 หมื่นล้านบาท มารวมกับค่าจ้างเดินรถ 1 หมื่นล้านบาทนั้น ยังไม่สมเหตุสมผล ในเมื่อการก่อสร้างตอนแรกเป็นความรับผิดชอบของรฟม. ทำไมถึงไปเรียกเก็บจากรฟม.เอง ทำไมถึงมาอ้างว่าเป็นหนี้ของกทม. ให้ดูว่ามีจำนวนมาก เพื่อเอื้อให้เกิดการต่อสัมปทานกับบริษัทเอกชนอย่างรวดเร็วใช่หรือไม่ ทั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงรายได้อื่นๆที่รถไฟฟ้าจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าพื้นที่ ค่าโฆษณา ที่ปีๆนึงมีมูลค่าเป็นพันล้านบาท กลับไม่ได้ถูกนำมาคำนวณด้วยซ้ำ
นางรสนา กล่าวว่า สำหรับค่าโดยสารที่เหมาะสม เห็นว่าควรอยู่ที่ 25 บาทต่อเที่ยว ซึ่งหากคำนวณดูแล้วภายในระยะเวลา 30 ปี จะมีกำไรอย่างแน่นอน จึงเห็นว่าค่าโดยสาร 65 บาทนั้นแพงเกินจริง และหากไม่สามารถเจรจาให้ลดค่าโดยสารลงมาได้ ก็ไม่ควรจะต่อสัมปทาน ให้รออีก 8 ปี เมื่อสัญญาหมด กทม.ก็กลับมาบริหารการเดินรถเอง ส่วนหนี้ 3 หมื่นล้านบาทที่กทม.อ้างว่าไม่มีจ่ายนั้น ให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ และจะได้กลับคืนแถมมีกำไรในการบริหารงานอีก 30 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
“ทุกอย่างดูไม่สมเหตุสมผล มีความพยายามอ้างหนี้ที่จำนวนสูงเกินจริง ตัวเลขไม่ชัดเจน ขณะที่สัมปทานก็ยังเหลืออยู่อีกถึง 8 ปี ส่อให้เห็นว่าเหมือนค่าโง่ทุกครั้ง ที่อ้างว่าไม่มีเงินจะจ่าย จึงต่อสัมปทานให้เอกชน ทั้งที่จริงๆแล้วรัฐบาลไม่ได้จ่ายสักบาท มาควักกระเป๋าจากประชาชนไปทั้งนั้น รัฐบาลต้องเข้าใจก่อนว่านี่คือสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถ้าหมดสัมปทานแล้วเดินรถเองไม่ได้ ก็เปิดประมูลใหม่ได้ โดยพิจารณาว่าเอกชนรายใดคิดค่าโดยสารน้อยสุด ไม่ใช่ว่าให้ประโยชน์รัฐสูงสุด เพราะรัฐใช้จ่ายจากเงินภาษีประชาชนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำกำไร ยอมรับว่าห่วงรัฐบาลรวบรัดนำเรื่องเข้าครม. จึงจะจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป”นางรสนา กล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image