หอค้าโหมโรง แซนด์บ็อกซ์ค้าปลีก ซอฟต์โลนต่อลมหายใจเอสเอ็มอี

หอค้าโหมโรง แซนด์บ็อกซ์ค้าปลีก ซอฟต์โลนต่อลมหายใจเอสเอ็มอี

หอค้าโหมโรง แซนด์บ็อกซ์ค้าปลีก ซอฟต์โลนต่อลมหายใจเอสเอ็มอี

จากสัญญาณที่ดีในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 เริ่มมองเห็นแสงสว่างต่อเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นตัว หลังโดนผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านมา 2 รอบ แต่เมื่อเกิดการระบาดรอบ 3 ที่รุนแรงทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเร็ว เสียชีวิตมากขึ้น และเชื้อไวรัสแพร่ไปวงกว้าง พร้อมที่จะเกิดคลัสเตอร์จุดกระจายเชื้อไวรัสได้ตลอดในเวลานี้ กดดันต่อความรู้สึก ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ลดการจับจ่ายใช้สอย งดเดินทางข้ามจังหวัด งดกิจกรรม หยุดท่องเที่ยวภายในประเทศ ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเจอวิกฤตซ้ำอีกรอบ ขาดรายได้ รายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ลดอัตราจ้างหรือวันจ้างงงาน กลายเป็นลูกคลื่นถึงรายได้ภาคประชาชนเข้าภาวะฝืดเคืองหนักขึ้น

ในภาคประชาชน เชื่อว่าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเสนอออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือในการลดค่าครองชีพและพยุงยอดขายร้านค้าทั่วไป ผ่านมาตรการเดิมๆ ที่มีอยู่ เพียงใส่สีสันและเป็นลูกผสมดึงเงินออมกับเงินงบประมาณรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่สำหรับภาคธุรกิจ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) ยังเป็นโครงการที่ธุรกิจหวังพึ่งพาได้ เพราะย้อนดูตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนตั้งแต่ปี 2563 วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท พบว่าสิ้นสุดโครงการวันที่ 15 มีนาคม 2564 มียอดอนุมัติสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก.นี้เพียง 1.33 แสนล้านบาท จำนวน 7.67 หมื่นรายเฉลี่ยได้รับเงิน 1.73 ล้านบาท/รายเท่านั้น สะท้อนความยากลำบากของผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

Advertisement

เมื่อต่อโครงการรอบ 2 รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูถึงปัญหาจึงทบทวนเงื่อนไขตอบโจทย์ปัญหาที่ได้รับมา ในแผนวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็ยังมีทั้งเสียงตอบรับและเสียงบ่นเข้าถึงสินเชื่อยังยาก โดยเฉพาะหลักฐานการเดินบัญชีและสถานะทางเครดิตบูโร ผู้ประกอบการรายหลายมีปัญหา โดยเฉพาะเล็กมักไม่มีเงินเดินบัญชี และติดเครดิตบูโรหลังโควิด-19 ระบาด

⦁เล็งดันเอสเอ็มอีแสนรายกู้เงินผ่าน
ผลกระทบโควิด-19 ต่อรายได้ทำมาหากินหายไป ไม่แค่รายเล็กรายกลางหรือใหญ่ก็เริ่มสั่นคลอน หากปล่อยไว้อาจไม่ทันการณ์ แม้โควิดผ่านไปแต่ธุรกิจห่วงโซ่ (ซัพพลานเชน) ก็จะล้มตายหมด จึงทำให้ สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บรรจุเป็นภารกิจเร่งด่วน ที่ต้องผลักดันใน 99 วัน ให้เกิดเป็นรูปธรรม ของระยะการเข้ามาทำงานหลังได้รับเลือกเป็นประธานหอค้าไทย โดยประกาศเป้าหมายเอสเอ็มอี 1 แสนรายให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนซอฟต์โลน เพื่อประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงาน รวมทั้งพยุงระบบเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งทำควบคู่ไปกับอีกภารกิจเร่งด่วน คือผลักดันเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เร็วที่สุดและเข้าถึงประชาชน 70% ภายในปีนี้ ซึ่งก็เห็นถึงความคืบหน้าต่อแรงผลักของภาคเอกชน ที่รัฐบาลเองก็ต้องออกมายอมรับ!!

ซอฟต์โลนภาคเอกชน ก็เมื่อผุดแนวคิดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยใช้ “ใบสั่งซื้อสินค้า” เป็นหลักค้ำประกันในการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร ผลออกมาดีเกินคาด หลังหอการค้าเข้าเจรจาและนำเสนอแนวคิดกับสมาคมธนาคารไทย จนได้ข้อสรุป และเตรียมนำร่องปล่อยกู้กับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกโดยเรียกโครงการนี้ว่า “แซนด์บ็อกซ์ค้าปลีก”

Advertisement

⦁ที่มา!ใบสั่งซื้อค้ำประกันสินเชื่อ
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ในฐานะรองประธานหอการค้าไทย ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ในโครงการแซนด์บ็อกซ์ค้าปลีก ว่า สมาคมค้าปลีกมีสมาชิกที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ เช่น ซีพี ออลล์ เดอะมอลล์ กรุ๊ป เซ็นทรัล กรุ๊ป เป็นต้น จัดทำรายชื่อสมาชิกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค้าปลีกที่เป็นคู่ค้า ส่งให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณา ซึ่งสมาชิกในสมาคมที่เป็นคู่ค้าทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ประกอบการคู่ค้าเป็นอย่างไร โดยผู้ที่จะผ่านเกณฑ์ต้องมีประวัติที่ดี จากทุกภาคส่วนทำงานคู่กัน เมื่อรู้ว่าประวัติดีและความต้องการตรงกันก็จับคู่และธนาคารปล่อยสินเชื่อ ตามปกติแล้วการขอสินเชื่อต้องดูเรื่องเครดิตบูโร แต่ในมาตรการนี้ธนาคารไม่ต้องดูประวัติอื่นแล้ว ไม่มีการดูย้อนหลังประวัติเรื่องอื่น เพียงดูข้อมูลการค้าขายว่าเป็นอย่างไร มีการสั่งซื้อสินค้ากันอยู่จริง ส่วนนี้ช่วยได้มาก ว่ายังทำธุรกิจ

ตามปกติ หลังได้รับการอนุมัติธนาคารจะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่เป็นเงินทุนที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายวันต่อวัน ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถต่อลมหายใจได้แล้ว ต้องเสริมใช้เงินทุนเพื่อปรับปรุงธุรกิจ และยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมเต็มธุรกิจหลังจากต้องอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 มานาน ในแง่ของสมาคมค้าปลีก ก็ได้รับผลดี คือได้คู่ค้าที่แข็งแรงขึ้น ในส่วนธนาคารลดความเสี่ยง ตามหลักการธนาคารต้องการลูกค้าใหม่ตลอดอยู่แล้ว แต่จะเข้าไปหาลูกค้าใหม่โดยที่ไม่รู้จักมาก่อนก็ค่อนข้างยาก การที่สมาคมธุรกิจช่วยให้ข้อมูล จะทำให้ได้ลูกค้าที่ดี เท่ากับว่ามาตรการนี้ช่วยเหลือกันทั้งสามฝ่ายต่างคนต่างได้ประโยชน์

กอบกาญจน์เสริมอีกว่า หากจะขยายมาตรการไปยังอุตสาหกรรมประเภทหรือวงการธุรกิจอื่น จะใช้โมเดล “แซนด์บ็อกซ์ค้าปลีก” เป็นต้นแบบ ก็ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่กำลังพิจารณารายละเอียด ส่วนใหญ่มีการซื้อขายกันในลักษณะห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) อยู่ในหลายหลายวงการเหมือนกัน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ที่แต่ละอุตสาหกรรมต้องลงในรายละเอียดความต้องการทุกฝ่าย ว่าแบบใดจึงจะเหมาะสม การออกนโยบาย หรือพูดถึงหลักการจะทำนั้นมันง่าย แต่ในความเป็นจริง ระบบจำเป็นต้องเชื่อมต่อกันทั้งหมด จึงจะทำงานได้ง่าย กลายเป็นแซนด์บ็อกซ์ค้าปลีกก็ไม่ได้ง่าย เพราะจากที่กลุ่มค้าปลีกยื่นมาหลายหมื่นราย กรองเหลือประมาณ 6,000 ราย และปล่อยเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สัปดาห์หน้านี้ ก็ผ่านอนุมัติก่อน 1,000 ราย ธนาคารพาณิชย์กำลังพิจารณาอีก 3,000 ราย โดยเร็วๆ นี้จะมีการแถลงเปิดโครงการและรายงานความคืบหน้า

การทำงานของโครงการนี้ จะสอดคล้องกับ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนของ ธปท.ด้วย ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป อีกทั้งลดปัญหากฎเกณฑ์เดิมๆ จนทำให้ผู้ประกอบการยังเข้าไม่ถึงซอฟต์โลนได้ต่ำ จากข้อมูลหอการค้า พบว่าผู้ประกอบการในแซนด์บ็อกซ์ค้าปลีก 6,000 รายสัดส่วนกว่า 70% เข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลนไม่ได้เลย

⦁ก้าวต่อไป‘พักทรัพย์พักหนี้’
กอบกาญจน์เล่าถึงแนวทางต่อจากนี้ หอการค้าจะสนับสนุนสมาคมธนาคาร โดยช่วยเหลือการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอี โดยเสริมการสัมมนาออนไลน์ให้กับสมาชิกเพื่อเป็นการสร้างความรู้ ให้เข้าถึง พ.ร.ก.ซอฟต์โลน และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ของ ธปท. เร็วๆ นี้จะชัดเจนถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ช่วยเหลือไม่ให้ผู้ประกอบการนั้นขายทอดกิจการ เพราะว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นระลอก 3 แล้ว ผู้ประกอบการบางรายก็ถอดใจ จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อที่จะเป็นกำลังใจให้สามารถยืนหยัดทำธุรกิจต่อไปได้ โครงการนี้เน้นช่วยเหลือพวกกลุ่มธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ เพราะเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบหนักที่สุด เราต้องการธุรกิจนั้นยังอยู่ในมือของคนท้องถิ่นและดำเนินการกิจการต่อไปได้

จากการบอกเล่าดังกล่าว เห็นได้ว่าพลังภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริหารงานผ่านหอการค้าไทย สามารถแก้ปมยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ไม่ยาก !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image