‘ศุภชัย’ สั่งการ โลตัส นับถอยหลัง 18 ชม.ผนึกกำลังกทม.ปรับพื้นที่ ฉีดวัคซีนคลัสเตอร์คลองเตย

“ศุภชัย เจียรวนนท์”สั่งการ โลตัส ภารกิจนับถอยหลัง 18 ชม.ผนึกกำลัง กทม. ปรับพื้นที่สาขาพระราม 4 พร้อมฉีดวัคซีนคลัสเตอร์คลองเตยด่วน เริ่ม 4 พ.ค.บ่ายโมงตรง

นับถอยหลัง 18 ชั่วโมง หลังช่วงบ่ายวันนี้(3 พ.ค.64) ศบค.มีมติสั่งฉีดวัคซีนโควิด-19 คลัสเตอร์คลองเตย ด่วน พรุ่งนี้(4 พ.ค.64) 2 จุด ที่โลตัสพระราม 4 และ รร.คลองเตย เริ่มเวลา 13.00 น.ตั้งเป้าฉีดให้ได้วันละ 2,000-3,000 คน นับได้ว่าเป็นภารกิจท้าทายอีกครั้ง

ในการฉีดวัคซีนเชิงรุก สำหรับคลัสเตอร์คลองเตย ซึ่งอาจกลายมาเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการระบาดระลอกใหม่นี้ เนื่องจากพบว่าในชุมชนคลองเตย มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 80,000 – 90,000 ราย อาศัยอยู่ในสภาพแออัด และมีการกระจายออกไปทำงานอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ในขณะที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมผนึกกำลังกับกทม. เพื่อเร่งปรับพื้นที่ ลงระบบ และเตรียมความพร้อมพื้นที่โลตัสพระราม 4 มารองรับการฉีดวัคซีนด่วน ร่วมกับพื้นที่คลองเตยวิทยา

โดยหวังว่าจะฉีดได้กว่า 3,000 คนต่อวัน ซึ่งเท่ากับต้องใช้เวลาเกือบ 1 เดือน เพื่อให้ชุมชนคลองเตยได้รับวัคซีนเพียงพอ เพื่อเกิดภูมิคุ้มกัน ขณะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐที่ตั้งอยู่พื้นที่ใกล้เคียงชุมชนคลองเตย มีรายงานพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากชุมชนคลองเตยมาเข้ารับการรักษามากขึ้น ดังนั้นหากสามารถฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว ก็จะลดภาระแพทย์ และพยาบาล ที่ปัจจุบันหนักมากอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) หลังทราบมติ ศบค. สั่งการทีมงานลงพื้นที่ ภารกิจนับถอยหลัง 18 ชั่วโมง ตั้งเป้าหมายพร้อมก่อนบ่ายโมงพรุ่งนี้ พร้อมสนับสนุน กทม.ในทุกมิติ เร่งเสริมระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อรองรับระบบทางการแพทย์ ระบบฐานข้อมูล เพื่อการเชื่อมต่อ สื่อสารได้ตลอดเวลา โดยจะมีการทดสอบระบบกันตลอดทั้งคืน โดยเน้นย้ำกระบวนการต้องกระชับ รวดเร็ว และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งในรายละเอียดนั้นมีมาก เช่น จุดจัดลำดับคิว จุดคัดกรอง จุดตรวจเอกสาร สำหรับเจ้าหน้าที่วัดอุณหภูมิ พื้นที่รองรับ เครื่องวัดความดัน ต้องมีการเตรียมพื้นที่นั่งพัก ที่มีการรักษาระยะห่าง ในกรณีค่าความดันวัดได้สูงผิดปกติ

Advertisement

นอกจากนี้หลังฉีดวัคซีนแล้ว ต้องมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับสังเกตอาการอีก 30 นาที ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว จะมีการคำนวณระยะห่างที่เหมาะสม ดังนั้นการวางกระบวนการที่เหมาะสม ลดเวลาการฉีดได้มากที่สุด ก็เท่ากับลดโอกาสการติดเชื้อด้วย ทำให้มีการกางผัง การออกแบบกระบวนการอย่างละเอียด โดยจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ต้องมีการวางกระบวนการฉุกเฉินและมีการเตรียมรถพยาบาลให้พร้อมกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ทุกจุดที่เป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลจำเป็นต้องมี จึงถือว่า การเตรียมตัวในคืนนี้ให้พร้อมที่สุดถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ โลตัส ได้มีการจัดเตรียมเจลแอลกอฮออล์ และอาหารไว้รองรับ

ขณะที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน)หรือซีพีเอฟ ได้เตรียมสนับสนุนด้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อดูแลบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะให้บริการต่อเนื่องในคลัสเตอร์คลองเตย เพราะต้องหมุนเวียนกันหลายกะ และเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของผู้มาฉีดวัคซีน และ เจ้าหน้าที่ทุกคนในการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพราะการแพร่กระจายเชื้อยังมีตัวเลขที่สูงขึ้น ดังนั้นทุกคนต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุดด้วย

Advertisement

 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุม ศบค. ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานหารือนัดพิเศษ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อโควิด-19 การให้บริการวัคซีน โดยเฉพาะกรณีคลัสเตอร์ ชุมชนคลองเตย โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เร่งกระจายวัคซีน ซึ่งจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ชุมชน คลองเตยวันพรุ่งนี้ 2 จุด คือ ที่โลตัสพระราม 4 และโรงเรียนคลองเตยวิทยา ตั้งแต่เวลา 13.00 น. คาดว่าจะฉีดได้ประมาณ 1,000 คน ขณะที่วันต่อไป จะสามารถฉีดได้ วันละ 2,000-3,000 คน ขณะเดียวกันเร่งเดินหน้าตรวจหาเชื้อเชิงรุกให้ได้วันละ 1,000 คน จนถึงวันที่ 19 พ.ค. คาดว่า จะได้ถึง 20,000 คนจากคนในชุมชน จำนวน 8.5 หมื่น-9 หมื่นคน
ทั้งนี้ผู้ว่าฯ กทม. ยังระบุด้วยว่าคลัสเตอร์ คลองเตย ไม่สามารถซีลได้เหมือน สมุทรสาคร เพราะมีจำนวนประชาชนแตกต่างกับสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่จำกัด จำนวนประชาชนน้อย พร้อมขอความร่วมมือประชาชนทำความเข้าใจในการป้องกันตัวเอง พยายามเลี่ยงออกนอกบ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image