เงินเฟ้อเม.ย.เพิ่ม 3.41% สูงสุดรอบ 100 เดือน พณ. จ่อปรับคาดการณ์ใหม่ หลังรัฐต่อแพคเกจลดค่าครองชีพ

เงินเฟ้อเม.ย.เพิ่ม 3.41% สูงสุดรอบ 100 เดือน พณ. จ่อปรับคาดการณ์ใหม่ หลังรัฐต่อแพคเกจลดค่าครองชีพ

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2564 สูงขึ้น 3.41% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 14 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน (100 เดือน) สาเหตุสำคัญจากสินค้ากลุ่มพลังงานขยายตัวก้าวกระโดด 36.38% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานราคาน้ำมันที่ต่ำมากในปีก่อน และระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก ประกอบกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาของรัฐได้สิ้นสุดลง นอกจากนั้น สินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะ เนื้อสุกร ผักและผลไม้ ขยายตัว 0.11% ผลจากสภาพอากาศแปรปรวนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับผลผลิต การส่งเสริมการขายและความต้องการ โดยในเดือนมีนาคม สินค้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อ ที่ราคาสูงขึ้น 224 รายการ ลดลง 140 รายการ สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัว 0.30%เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.09%

“เดิมนั้นคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อมีทิศทางเป็นขาขึ้น จนถึงเดือนสิงหาคมจะทยอยลดลง เนื่องจากการอ่อนตัวของราคาอาหารสด และรัฐไม่ต่อมาตรการลดค่าครองชีพด้านสาธาณูปโภค แต่มีราคาพลังงานที่มีทิศทางสูงขึ้นเป็นการดันเงินเฟ้ออยู่ ขณะเดียวกันต้องติดตามแพคเกจมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาเพื่อเยียวยาและลดค่าครองชีพอย่างไร หากมีการต่อมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งมีน้ำหนักที่สูงในเงินเฟ้อ จากที่คาดการณ์ว่าพฤษภาคม เงินเฟ้อสูง 3% ก็จะหายไป 2% เหลือ 1-1.5% เท่านั้น อีกทั้งหากต่อมาตรการยาวถึงครึ่งปีหลัง สนค.ก็จะทบทวนตัวเลขเงินเฟ้อใหม่” นายวิชานัน กล่าว

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

นายวิชานัน กล่าวว่า สนค.ยังประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนเมษายน หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพอื่นเพิ่มเติมจากรัฐ ปัจจัยจากราคาพลังงานอยู่ระดับสูง และฐานราคาพลังงานยังต่ำมากในปีก่อน ขณะที่สินค้าและบริการอื่นยังเคลื่อนไหวตามผลผลิตและความต้องการ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐคาดออกมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ชดเชยอุปสงค์ที่ลดลงจากการท่องเที่ยวได้ ขณะที่การฟื้นตัวของโลกน่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง ผลผลิตสินค้าเกษตรยังโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ ส่งผลต่อราคาอาหารสด และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศ ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

Advertisement

“คาดการณ์เงินเฟ้อ ณ เดือนเมษายน ไว้ว่า ไตรมาส 2 เงินเฟ้อจะขยายตัว 2.95% ไตรมาส 3 ขยายตัว 1.31% ไตรมาส 4 ขยายตัว 0.92% กรณีไม่มีมาตรการลดค่าสาธารณูปโภคเพิ่มเติมจากรัฐ และคาดเงินเฟ้อทั้งปี 2564 เคลื่อนไหวระหว่าง 0.7 – 1.7% ค่ากลางขยายตัว 1.2% แต่หากรัฐบาลขยายแพคเกจช่วยลดค่าครองชีพด้านสาธาณูปโภคยาวหลายเดือน ก็จะต้องทบทวนตัวเลขคาดการณ์ทั้งปีใหม่ ที่อาจลดลง ” นายวิชานัน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image