‘เฟทโก้’ ชี้ความเชื่อมั่นนักลงทุนวูบรอบ 6 เดือน ย้ำวัคซีนเป็นหัวใจ-ชงรัฐนำเข้าเพิ่มควบผลิตในประเทศ

‘เฟทโก้’ ชี้ความเชื่อมั่นนักลงทุนวูบรอบ 6 เดือน ย้ำวัคซีนเป็นหัวใจ-ชงรัฐนำเข้าเพิ่มควบผลิตในประเทศ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือนเมษายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.37 ปรับตัวลดลง 14.6% จากเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน แต่ยังสามารถอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก 5 ข้อ คือ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ชัดเจนว่าจะสามารถฟื้นบวกได้แน่นอน ขึ้นอยู่กับการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 แผนการกระจายวัคซีนต้านไวรัสจะมาได้เร็วเท่าใด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 2.การฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย 3.อัตราเร่งในการฉีดวัคซีน ที่หากทำได้เร็วก็จะส่งผลให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นตาม 4.การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ถือเป็นหัวใจหลัก เพราะไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้หากสามารถเปิดนำร่องภูเก็ตโมเดลได้ก่อน จะส่งผลเชิงบวกต่อดัชนีได้สูง และ 5.การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายจะเห็นไหลกลับเข้ามาได้ ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การระบาดโควิดระลอก 3 ในไทย รองลงมาคือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน ส่วนสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง มองว่าไม่ได้มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก

“การระบาดโควิดรอบนี้ เชื่อว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก ประเมินจากมาตรการคุมเข้มของรัฐบาล และการฉีดวัคซีนควบคู่ไปด้วย จึงเชื่อว่าสถานการณ์จะทยอยดีขึ้น ซึ่งเป็นมุมมองเดียวกับนักลงทุนส่วนใหญ่ด้วย สะท้อนได้จากดัชนีที่ปรับลดลงไม่มาก เทียบกับการระบาด 2 ระลอกที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศ แม้จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อวันละกว่า 2,000 คน แต่หากเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลก ไทยยังถือว่าติดเชื้ออยู่ในระดับน้อย ทำให้เห็นเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นในอาเซียนได้อยู่ แม้แต่อินเดียก็ยังเห็นปริมาณฟันด์โฟลว์ไหลเข้าอยู่บ้าง โดยนักลงทุนต่างชาติจะให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐาน ในด้านกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย หลังจากมีการฉีดวัคซีนได้ชัดเจนมากขึ้น” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับวัคซีนต้านไวรัส ที่ถือเป็นหัวใจหลักนั้น ต้องติดตามแผนจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทย ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพราะมีการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนก้าในประเทศไทยเองเป็นครั้งแรกด้วย โดยจำนวนวัคซีนตามเป้าหมายวางไว้รวม 100 ล้านโดส ถือว่าสร้างความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ตั้งจำนวนวัคซีนไว้เพียง 65 ล้านโดส แต่ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับว่า จำนวน 100 ล้านโดสนี้ จะได้รับจริงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ในจำนวน 100 ล้านโดสนี้ แบ่งเป็นซิโนแวคเพียง 2 ล้านโดส อีก 61 ล้านโดสเป็นแอสตร้าเซเนก้าเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทอื่นที่อยู่ระหว่างเจรจากัน ซึ่งความเสี่ยงของแอสตราเซเนก้าคือ เป็นการผลิตวัคซีนในประเทศ ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้ตามแผนที่วางไว้ว่าจะต้องผลิตให้ได้ 10 ล้านโดสต่อวันหรือไม่ หากได้ก็ถือว่าดี แต่หากไม่ได้ก็จะเป็นความเสี่ยงใหม่ขึ้น และสร้างความกังวลเพิ่มได้ เพราะจะมีช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ที่ไทยต้องเร่งฉีดวัคซีนและต้องพึ่งพาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเกือบ 100% โดยหากเกิดเหตุไม่คาดคิดทำให้การผลิตวัคซีนในประเทศทำไม่ได้ตามเป้าหมาย รัฐบาลได้เตรียมแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมืออื่นๆ ไว้หรือไม่ อาทิ การนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้ามาเพิ่มได้หรือไม่ รวมถึงหากนำยี่ห้ออื่นเข้ามาสมทบ ควบคู่กับการผลิตในประเทศด้วย จะถือว่าดีมากๆ เพราะเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจทำให้ไม่สามารถผลิตวัคซีนตามเป้าหมายได้

Advertisement

“หากเป็นไปได้อยากเสนอให้รัฐจัดหาวัคซีนเกินจำนวน 100 ล้านโดส เนื่องจากขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่า การระบาดโควิดจะอยู่อีกนานเท่าใด และวัคซีนจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ถึงช่วงใด อาจเกิดความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มการป้องกันโควิดอีกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีแพทย์ในต่างประเทศออกมาระบุว่า อาจต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันเข็มที่ 3 เพิ่มทำให้แผนจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสของไทยอาจไม่เพียงพอรองรับจำนวนประชากรทั้งหมดได้ ส่วนจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ก็ต้องวางแผนกันต่อไป” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2564 ดัชนีหุ้นไทยผันผวนอยู่ระหว่าง 1,541.12-1,596.27 จุด โดยถูกแรงกดดันจากการระบาดโควิดรอบใหม่ และผลกระทบจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงอย่างหนัก หลังจากการประกาศข้อเสนอเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนเพิ่มเกือบเท่าตัว แต่ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกหลังจากรัฐบาลไทยประกาศแผนการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท รวมถึงมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมีนาคม ที่สามารถขยายตัวได้กว่า 8.5% ทำให้ ณ สิ้นเดือนเมษายน หุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,583.13 ปรับตัวลงเพียง 0.26% จากเดือนก่อนหน้าเท่านั้น โดยหากประเมินจากเกณฑ์ดัชนีราคาหุ้นชั้นนำของโลก (เอ็มเอสซีไอ เวิร์ด) พบว่าตลาดหุ้นโลกปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9% ซึ่งหุ้นไทยก็ปรับขึ้นประมาณ 9% เช่นกัน ส่วนตลาดหุ้นที่ดูแย่มากๆ ในปีนี้คือ ตลาดหุ้นอื่นๆ ในอาเซียน ยกเว้น สิงคโปร์ และเวียดนาม อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดหุ้นไทยกลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว เพราะสามารถปรับขึ้นได้ดีกว่าภาพรวมตลาด ไม่ได้ปรับขึ้นได้ต่ำกว่าภาพรวมตลาดเหมือนปี 2563

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image