นักเศรษฐศาสตร์ชี้รัฐแจกเงินรอบนี้น้อยไปเมื่อเทียบความรุนแรง คาดกังวล2ประเด็น

นักเศรษฐศาสตร์ชี้รัฐแจกเงินรอบนี้น้อยไปเมื่อเทียบความรุนแรง คาด2เหตุผล กังวลการเมือง-กลัวหนี้สาธารณะทะลุเพดาน

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล วงเงินกว่า 2.4 แสนล้านบาท ว่า เป็นเรื่องดีที่มีมาตรการออกมา แต่ 1.ต้องยอมรับว่าค่อนข้างช้าแล้ว 2.ปริมาณเงินที่อัดเข้าไปดูน้อยกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก2 อย่างเงินแจกเราชนะ ระลอก 2 ให้ 7,000 บาท แต่ครั้งนี้ให้ 2,000 บาท ทั้งที่หนักกว่าเดิม กระทบเป็นวงกว้าง ทั้งด้านภาคการท่องเที่ยวในประเทศ การปิดร้านอาหาร การแพร่ระบาดครั้งนี้มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด และสถานการณ์ดูไม่น่าจบในเร็วๆนี้ ขณะที่ระบบสาธารณสุขของไทยเริ่มไม่ไหว เริ่มมีข้อจำกัด ดังนั้นส่วนตัวจึงไม่เข้าใจว่าทำไมการให้เงินช่วยเหลือครั้งนี้จึงน้อย เบาบางเมื่อเทียบกับผลกระทบที่รุนแรง เพราะเป็นเงินประชาชน รัฐไม่ได้เสียอะไร การอัดเงินรอบนี้ไม่พอต่อผลกระทบที่ประชาชนได้รับแน่นอน

“เชื่อว่ารัฐบาลอาจกังวลว่าหากให้เงินเยอะกว่านี้อาจทำให้หนี้สาธารณะติดเพดานหรือเปล่า เลยแจกน้อยกว่าทุกครั้ง ทั้งที่ครั้งนี้รุนแรงกว่าระลอก 2 ทำไมรัฐบาลไม่แจกเยอะกว่านี้ เพราะผลกระทบน่าจะลากยาวกว่าระลอก 2 จากตัวเลขที่พุ่งหลักพันทุกวัน”นายบุรินทร์กล่าว

อ่านข่าว ‘หม่อมอุ๋ย’ หนุนรัฐเยียวยาปชช. แนะประกันรายได้พืชผลเกษตร-เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง

เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุที่ครั้งนี้ออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูน้อย เพราะติดเรื่องกรอบพ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และประเด็นหนี้สาธารณะที่เพดานกำหนดไว้ที่ 60% รัฐบาลจึงไม่กล้าแจกเยอะ และหากตัวเลขจีดีพีไม่ดีอีกอาจทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะขยับขึ้นสูงอีก อาจถึง 60% เร็วกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าปลายปีนี้จะอยู่ระดับ 58-59% แต่กรณีที่จีดีพีลดลงอีกจากคาดการณ์ 2% เหลือ 0% หรือติดลบ ตัวเลขหนี้สาธารณะจะถึง 60% เร็วขึ้นอีก จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลน่าจะกังวล

Advertisement

นายบุรินทร์ กล่าวว่า คาดการณ์จีดีพีปีนี้จะอยู่ระดับ 1.5% ขณะที่กระทรวงการคลังปรับลดลงเหลือ 2.3% จากเดิมคาดการณ์ 2.8% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็ปรับลดเหลือ 1-2% เช่นกัน โดยหน่วยงานรัฐคาดนักท่องเที่ยวจะเข้าไทย 2-3 ล้านคน ประเด็นนี้มองว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะไทยเพิ่งฉีดวัคซีนเพียง 1.6% ของประชากร การเปิดประเทศจึงน่าลากยาวเป็นปี 2565 หากเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจน่าจะลดลงอีกค่อนข้างเยอะ ซึมอีกนาน

“หากสถานการณ์แย่ลง ถามว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ตอนนี้ถ้าต้องกู้อีกก็ต้องไปเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเรื่องการเมือง ส่วนประเด็นหนี้สาธารณะในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ 60% ไม่เยอะแต่จะติดปัญหาการเมืองแทน เชื่อว่าสาเหตุที่รัฐบาลเยียวยารอบนี้น้อยติดตรงพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นในสภาฯควรคุยกัน และตัดสินใจกู้เงินเพิ่ม และไม่ควรกังวลตัวเลขสาธารณะ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ของไทยถือว่าต่ำ”นายบุรินทร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image