กรุงศรีคาด 7 วันนี้ กรอบค่าเงิน 30.95-31.30 บาท ช็อกตัวเลขจ้างงาน กดดันดอลลาร์

กรุงศรีคาด 7 วันนี้ กรอบค่าเงิน 30.95-31.30 บาท ช็อกตัวเลขจ้างงาน กดดันดอลลาร์

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.95-31.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 31.20 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 31.07-31.28 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ตามคาด เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลักในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ระบุว่า จะชะลออัตราการเข้าซื้อพันธบัตรรายสัปดาห์และปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปีนี้สู่ 7.25% ซึ่งจะถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 80 ปี

อย่างไรก็ดี บีโออีย้ำว่าไม่ได้คุมเข้มนโยบายการเงินและยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% เล็กน้อยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายอย่างหนักท้ายสัปดาห์หลังสหรัฐฯรายงานว่าจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่ง เทียบกับการคาดการณ์ของตลาดที่เกือบ 1 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานขยับขึ้นเป็น 6.1% จาก 6.0% ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 6,015 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 9,599 ล้านบาท

“นักลงทุนจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เพื่อประเมินจังหวะเวลาการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระยะถัดไป อนึ่ง ตัวเลขการจ้างงานเดือนเมษายนที่ต่ำกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญส่งผลให้ตลาดลดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มที่เฟดจะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลการค้าของจีนที่สดใสหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนยุโรปเริ่มเปิดเมืองสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ในภาวะเช่นนี้ คาดว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะคงนโยบายผ่อนคลายต่อไป” นางสาวรุ่ง กล่าว

Advertisement

สำหรับปัจจัยในประเทศ ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาด การจัดหาและกระจายวัคซีน ทางด้านกนง.คงดอกเบี้ยด้วยเสียงเอกฉันท์ และเน้นย้ำการกระจายสภาพคล่องไปยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างตรงจุด กนง.ประเมินว่าผลบวกของภาคส่งออกที่ฟื้นตัวต่อการจ้างงานในภาพรวมยังจำกัด นอกจากนี้ กนง.เห็นว่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่ากลุ่มภูมิภาคและจะยังคงติดตามสถานการณ์ของตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด เป็นที่น่าสังเกตว่าจากสมมติฐานล่าสุดของ ธปท. พบว่ากรณีการจัดหาและกระจายวัคซีนได้ช้ากว่าแผนเดิม เศรษฐกิจในปี 2564 และ 2565 จะขยายตัวเพียง 1.0% และ 1.1% ตามลำดับ โดยกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดว่ากนง.จะตรึงดอกเบี้ยต่อไปในระยะ 12 เดือนข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image