สกู๊ปหน้า 1: “ไบเดนโมเดล” พลิกฟื้นเศรษฐกิจ จากพิษโควิด-19

สกู๊ปหน้า 1: “ไบเดนโมเดล” พลิกฟื้นเศรษฐกิจ จากพิษโควิด-19

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวที่ 4.3 เปอร์เซ็นต์ โดยเพิ่มขึ้น 6.4 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกันปีต่อปี

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เสนอแผนช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้นี่เอง

แผนดังกล่าวมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการง่ายๆ ว่า “แผนช่วยเหลืออเมริกัน” (American Rescue Plan) ไบเดน ประกาศรายละเอียดแผนนี้ในทันที่ที่ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2021 หลังผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภาก็มีสถานะเป็น “รัฐบัญญัติ” หรือ “แอคต์” ไป

แผนของไบเดน รู้จักกันไปทั่วโลกจากปริมาณเงินมหาศาลที่กำหนดใช้ตามแผนถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ กับการ “แจกเงิน” เข้ากระเป๋าของคนอเมริกันส่วนใหญ่รายละมากถึง 1,400 ดอลลาร์ (ราว 44,000 บาท) เท่านั้นเอง

Advertisement

แต่หากเข้าไปพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า แผนช่วยเหลืออเมริกัน ที่ว่านี้แยกออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนของแผนการรับมือกับการแพร่ระบาด ส่วนที่สองเป็นส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ส่วนที่สามเป็นส่วนของการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ ครบถ้วนทั้งสามด้าน

ในส่วนของความช่วยเหลือโดยตรง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ราวกลางเดือนมีนาคม ประกอบด้วยการให้เงินช่วยเหลือให้กับพนักงาน, แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบในทุกครัวเรือนทั่วสหรัฐอเมริกา รายละ 1,400 ดอลลาร์ ครัวเรือนที่แต่งงานแล้ว มีสิทธิได้รับเงินโดยตรง 2,800 ดอลลาร์ พร้อมกันนั้นก็ยังคงมีสิทธิได้รับเงินรับประกันการว่างงาน อีกสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ ซึ่งรัฐบัญญัตินี้กำหนดให้ยืดระยะเวลาไปจนถึงเดือนกันยายนปีนี้พร้อมกันไปด้วย

นอกจากนั้น ยังมีงบประมาณอีกส่วนหนึ่งจัดสรรให้โดยตรงเป็นการช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยและโภชนาการ, ขยายการให้การให้ความช่วยเหลือในการดูแลเด็ก (childcare) และการเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพ, ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 469 บาทต่อชั่วโมง), ขยายระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงการขยายและเพิ่มมาตรการลดหย่อนภาษี (tax credits) สำหรับแรงงานผู้มีบุตร เป็นต้น

Advertisement

ที่สำคัญคือ รัฐบัญญัตินี้ เปิดทางให้ใช้เงินงบประมาณสนับสนุนกิจการใดๆ ที่ให้พนักงานหยุดงานเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถจ่ายค่าจ้างได้เต็มจำนวนเดิม (paid leave) โดยไม่จำเป็นต้องเลิกจ้าง มุ่งเน้นไปที่พนักงาน หรือแรงงานในบริษัท หรือกิจการธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่ถึง 50 คน สามารถได้รับเงินสนับสนุนเพื่อจ่ายค่าจ้างได้เต็มจำนวน

ในส่วนของการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ไบเดน กำหนดเงินงบประมาณก้อนโตไว้ไม่น้อยกว่า 440,000 ล้านดอลลาร์ นำส่วนหนึ่งไปจัดสรรให้กับรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐต่างๆ สำหรับนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ตามความต้องการภายในท้องถิ่นที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และนำไปใช้เพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับแรงงานด้านสาธารณสุขทั้งหลายที่เป็น “แนวหน้า” ในการทำสงครามกับโควิด

อีกก้อนใหญ่ถูกจัดสรรไว้สำหรับช่วยเหลือ ธุรกิจขนาดเล็กทั่วประเทศให้สามารถกลับมาเปิดกิจการได้ สร้างธุรกิจใหม่ได้ หรือสามารถรักษาธุรกิจเดิมเอาไว้ต่อไป ซึ่งมีทั้งการให้ทุนสนับสนุนกิจการขนาดเล็กรายละ 1 ล้านดอลลาร์ รวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ กับการนำเงินงบประมาณอีก 35,000 ล้านดอลลาร์ ไปสมทบกับกองทุนเงินกู้ภาครัฐ เพื่อให้เกิดกองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมูลค่า 175,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการปล่อยกู้ให้กับกิจการขนาดเล็ก และเป็นเงินทุนลงทุนเพื่อเริ่มกิจการ (venture capital) ในการช่วยเหลือสตาร์ตอัพต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานสะอาด, สร้างงาน และรักษาตำแหน่งงานในภาคการผลิตสินค้าและบริการที่ท้องถิ่นต้องการ, ให้เงิน 20,000 ล้านดอลลาร์ เป็นการช่วยเหลือเพื่อพยุงสถานะของกิจการด้านคมนาคม ขนส่ง ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กับจัดสรรงบประมาณอีกราว 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาและขยายเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย และสามารถป้องกันภัยทางไซเบอร์ได้ในอนาต

ขณะที่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หยิบยกนโยบายดังกล่าวขึ้นมาพร้อมโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ตำแหน่งงานในร้านอาหารของอเมริกาหายไปถึง 2.3 ล้านตำแหน่ง สถานการณ์แบบนี้คงไม่แตกต่างกันนักในประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ปัจจุบันสหรัฐมีแผนช่วยร้านอาหารโดยเฉพาะ เพราะมองว่าร้านอาหาร คือ สายใยสำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนในสังคมอเมริกา เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของประเทศ ล่าสุดได้ตั้งกองทุนฟื้นชีวิตธุรกิจเพื่อให้ความช่วยเหลือเหล่าร้านอาหาร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะร้านใหญ่ๆ แต่รวมบาร์ เบเกอรี่แผงขายอาหาร และรถขายอาหาร ซึ่งเงินช่วยเหลือประกอบการจะเอาไปใช้ทำอะไรก็ได้ อาทิ จ่ายค่าแรง ค่าอุปกรณ์ ค่าเช่า ค่าวัตถุดิบ หรือค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ เพื่อให้ร้านกลับมาเปิดได้เป็นปกติอีกครั้ง ขณะที่ขั้นตอนขอรับความช่วยเหลือผ่านกองทุน ทำได้ง่ายเพียงส่งเอกสารสมัครเข้ามาผ่านทางเว็บไซต์ของทางรัฐบาล และจะมีหน่วยงานประเมินและประสานให้ความช่วยเหลือต่อไป

“ส่วนตัวผมเห็นว่านโยบายนี้ค่อนข้างน่าสนใจ และเหมาะมากในการนำมาปรับใช้กับบ้านเราที่ร้านอาหาร และภาคบริการเป็นหัวใจสำคัญมากๆ มีอยู่ทั่วประเทศจะเป็นการช่วยฟื้นธุรกิจ สามารถดูแลพนักงานและเกิดรายได้กับผู้ค้าขายกับร้านอาหารเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจของประเทศเราหลังวิกฤตโควิด-19 จำเป็นต้องฟื้นชีวิตธุรกิจที่หยุดนิ่ง ให้เดินต่อโดยเร็วครับ” สนธิรัตน์ทิ้งท้าย

“ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า “ประเด็นการตั้งกองทุนช่วยเหลือร้านอาหารของสหรัฐ มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ควรศึกษาความแตกต่างก่อนนำมาปรับใช้กับประเทศไทย อาทิ รูปแบบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสหรัฐ ถ้าเก็บ 10% เมื่อมีการซื้ออาหารและเครื่องดื่ม เงินที่ได้จะถูกหัก และนำส่งเข้ารัฐบาลทันที ขณะที่ไทยจะเก็บรวบรวม และนำส่งรายเดือน ขณะที่เรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยเลื่อน การนำส่งแบบภาษีเงินได้ และไม่มีการตรวจสอบบัญชีที่ละเอียด บางรายไม่ยื่นรายได้ทั้งหมด เมื่อการจ่ายภาษีมีความต่างกันการช่วยเหลือ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือนั้น มีความจำเป็น แต่ต้องให้สิทธิกับผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพ เพราะเดือดร้อนเท่ากันหมด โดยเฉพาะกลุ่มภาคการท่องเที่ยวเดือดร้อนที่สุด ขณะที่กลุ่มร้านอาหารเป็นของอนาคตที่ต้องคิดรูปแบบดูแล วางแผน รัฐจะช่วยอะไรบ้าง และเงินมาจากไหน”

“ไบเดนโมเดล” เป็นเพียงโจทย์ที่ประเทศเราจะนำไปปรับใช้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image