บิ๊กแสนสิริ ย้ำ ธุรกิจไม่ควรยุ่งการกำหนดนโยบายรัฐ แต่แสดงความเห็น-จุดยืนได้ หวังมีคนฟัง

บิ๊กแสนสิริ ย้ำ ธุรกิจไม่ควรยุ่งการวางนโยบายรัฐ ขอแสดงความเห็น ใต้จุดหมายเดียวกัน หวังมีคนฟัง

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง โลกอาจต้องการมี CEO “นักเคลื่อนไหว” มากกว่านี้? โดยระบุว่า

ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามีเรื่องราวน่าสนใจระหว่าง ภาคธุรกิจ กับ ภาคการเมือง ในสหรัฐอเมริกาที่ผมอยากพูดถึง นั่นก็คือเรื่องของการที่บริษัทกว่า 100 แห่ง (ชื่อดังๆ อย่าง Starbucks, Apple, Amazon และ Ford) ร่วมลงนามจดหมายไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่จำกัดสิทธิ์การออกเสียงของประชาชน โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย ที่เริ่มบังคับใช้ในบางรัฐอย่างจอร์เจีย และกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาในอีกหลายรัฐ ซึ่งกลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่เราเห็นภาคธุรกิจออกมาแสดงจุดยืนทางสังคม การเมือง และความเท่าเทียมอย่างชัดเจนถึงขนาดที่พรรครีพับลิกันต้องออกมาโจมตีกลับบอกว่าธุรกิจไม่ควรยุ่งกับการเมือง

ต้องบอกว่าสหรัฐอเมริกาคือแม่แบบของระบบทุนนิยมที่มีการพยายามสร้างสมดุลกันเรื่อยมาระหว่าง “เสียงของภาคธุรกิจ” และ “นโยบายเศรษฐกิจ สังคม (รวมทั้งการเมือง)” วิวัฒนาการของความสัมพันธ์ผ่านมาหลายยุคตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่นักธุรกิจใช้การขยายตัวภาคอุตสาหกรรมสร้างบารมีผ่านกิจการของตน รวมถึงคลุกวงในกับภาครัฐเพื่อสร้างงาน สร้างชีวิตที่ดีให้คนในยุคนั้น เป็นเสมือนผู้นำมาซึ่งความเจริญของสังคมเศรษฐกิจให้อเมริกาในยุคหลังสงคราม ในขณะที่ยุค 80’s และ 90’s เป็นยุคของการสร้างผลกำไรสูงสุดโดยที่บรรดา CEO ต่างๆ ใช้ล็อบบี้ยิสต์ (lobbyist) ในการสร้างแรงกดดันต่อนโยบายของรัฐผ่านแคมเปญและการอัดเงินสนับสนุนมากมายที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจของตน

Advertisement

นั่นคืออดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโต จะเห็นว่าหน้าที่ของภาคธุรกิจ (และ CEO) คือตอบแทนผู้ถือหุ้นด้วยการทำสินค้าบริการที่แข่งขันได้ดีที่สุด ทำกำไรสูงสุด แต่ในยุคปัจจุบันมันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้วครับ ยุคนี้กลายเป็นยุคที่ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” จากธุรกรรมของภาคธุรกิจไม่ได้มีแค่ผู้ถือหุ้น แต่มีขาอื่นที่เราต้องให้ความสำคัญด้วย ประกอบกับตอนนี้เป็นสังคมที่เราทุกคนให้ความสำคัญกับปัญหาในด้านต่างๆ ไม่ว่าสุขภาพ การศึกษา สภาพแวดล้อม ความเท่าเทียม ฯลฯ การที่ภาคธุรกิจจะอยู่เฉยๆ โดยไม่แคร์ โดยไม่แสดงจุดยืน ไม่มีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ผมไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคและสังคมส่วนรวมมองหาหรือเปล่า

แต่ก็นะครับ มักมีคำถามเกิดขึ้นว่าแล้วการที่นักธุรกิจหรือภาคธุรกิจออกมาพูดหรือออกมามีบทบาทในการผลักดันวาระทางสังคมต่างๆ นั่นก็เพราะต้องการให้ผู้บริโภคปลื้มและขายของได้อีกน่ะสิ ก็เป็นไปได้แต่ผมอยากชวนให้มองอย่างนี้ ผู้บริโภคปัจจุบันไม่ได้โง่ เค้าเห็นหมดแหละครับระหว่าง คำพูด กับ การกระทำ ลมปากอย่างเดียวไม่ได้หมายความว่าคุณจะเอาชนะใจผู้บริโภคได้นะครับ ต้องทำด้วย จะทำเล็กทำใหญ่ว่ากันอีกที แต่ต้องทำก่อน

นอกจากต้องให้ความสำคัญกับมุมมองของผู้บริโภคแล้ว แรงกดดันในปัญหาต่างๆ ที่โลกเผชิญอยู่ยังทำให้แนวคิดของกองทุน ธนาคาร หรือแหล่งเงินทุนให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ไม่สร้างปัญหาเพิ่มให้กับโลกใบนี้ หรือมีความยั่งยืนในระดับหนึ่ง ดังนั้นภาคธุรกิจใดที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงในการถูกลดระดับความน่าสนใจลงไปด้วย

Advertisement

ยิ่งกว่านั้นต้องเข้าใจนะครับว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เค้าเก่งๆ หลายคนมีความเข้าใจเรื่องปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่คือความจริงของชีวิต ดังนั้นองค์กรใดที่มีความจริงใจในการสร้างความยั่งยืนในเรื่องต่างๆ และไม่เป็นภาระต่อสภาพแวดล้อม ฯลฯ จะเป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากเข้าไปช่วยพัฒนา สร้างศักยภาพให้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างเสริมความยั่งยืนให้กับโลกนี้ได้ดีขึ้น

ในมุมมองของผมชัดเจนครับว่าสุดท้ายแล้วบทบาทในการกำหนดนโยบาย มาตรการ กฎหมาย ยังเป็นหน้าที่ของรัฐ ธุรกิจไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยตรง แต่หน้าที่สำคัญของภาคธุรกิจก็คือการแสดงจุดยืนและความเห็น และช่วยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายได้หยุดคิด พิจารณา ถึงทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้ โดยต้องเอาจุดมุ่งหมายเดียวกันเป็นตัวตั้งให้ได้เสียก่อน และก็หวังว่าเสียงที่เราพูดออกไปจะมีคนฟังครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image