ญี่ปุ่นส่งแผนไฮสปีดเทรนพ.ย. ชง”บิ๊กตู่”ขอความช่วยเหลือจาก”ไจก้า”แล้ว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 669 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 4.4 แสนล้านบาท ว่าคาดว่าประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ ญี่ปุ่นจะส่งผลการศึกษารายงานขั้นสุดท้ายมาให้กระทรวงคมนาคม แบ่งการก่อสร้างออกเป็น ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 382 กม. และช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 287 กม. สำหรับเทคนิคการก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก วงเงินค่าก่อสร้างศึกษาไว้ประมาณ 121,014 ล้านบาท คณะสำรวจและศึกษาของญี่ปุ่นขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาเทคนิคงานก่อสร้าง 3 สถานี คือ บางซื่อ ดอนเมือง และพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานีใหญ่ต้องรองรับรถไฟจากทุกเส้นทาง ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟระยะไกล รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จะต้องแบ่งรางให้เหมาะสม เนื่องจากความถี่ของการให้บริการรถไฟความเร็วสูงจะมีความสัมพันธ์กับการใช้งานของราง

นายอาคมกล่าวว่า ในส่วนของสถานีดอนเมืองนั้น เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด เพราะใช้รางเพื่อรับรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ จะต้องแบ่งรางกัน ดังนั้น จะต้องยกระดับสถานีให้สูงขึ้นอีก ขณะที่สถานีพระนครศรีอยุธยา จะมีรัศมีทางโค้งเพื่อรับรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นความร่วมมือกับฝ่ายจีนด้วย ดังนั้น อาจมีประเด็นทางเทคนิคต้องพิจารณาตัดสินใจ ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปดูสภาพข้อเท็จจริงและจัดสรรเส้นทางให้เรียบร้อย

“พื้นที่ทางราบมีน้อย ดังนั้น สถานีจำเป็นต้องยกระดับขึ้นมา โดยเฉพาะสถานีดอนเมือง บางพื้นที่อาจต้องปรับรัศมีทางโค้ง เพราะรถไฟความเร็วสูงต้องโค้งน้อยที่สุด และรัศมีทางโค้งต้องสอดคล้องกับเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราชด้วย ปัจจุบันสถานีพระนครศรีอยุธยายังรอแบบก่อสร้างจากจีน เมื่อแบบจากจีนมา ต้องมาดูให้สอดคล้องกัน โดย ร.ฟ.ท.ต้องไปดูให้ 2 เส้นทางดังกล่าวไปด้วยกันได้ คาดว่าจะใช้เวลาสรุปประมาณ 1-2 สัปดาห์” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สองข้างทางโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ฝ่ายไทยได้ขอความช่วยเหลือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ในการศึกษาพัฒนาพื้นที่ในสถานี พื้นที่รอบสถานี และพื้นที่เมือง ได้เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา จากนั้นจะเหลือเพียงการทำแผนพัฒนาพื้นที่ควบคู่กับการพัฒนารถไฟอย่างไร และจะกำหนดตารางเวลาดำเนินการอีกครั้ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image