กดเลยเย็นนี้ขอรับสิทธิกู้ 1 หมื่นสู้ภัยโควิด ‘ออมสิน’ ธปท.ช่วยลูกหนี้บัตรเครดิต-บ้าน-รถ

กดเลยเย็นวันนี้ขอรับสิทธิกู้ 1 หมื่นสู้ภัยโควิดจาก ‘ออมสิน’ ธปท.ช่วยลูกหนี้บัตรเครดิต-บ้าน-รถ

วันที่ 15 พฤษภาคม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด ระบาดระลอก 3 ติดต่อขอสินเชื่อ “สู้ภัยโควิด-19” รายละ 1 หมื่นบาทจากธนาคารออมสินผ่านแอพพลิเคชั่น MyMo

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างเร่งขยายฐานผู้มีสิทธิขอสินเชื่อสู้ภัย โควิด-19 โดยลงระบบแอพพลิเคชัน MyMo ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเร็วที่สุด สำหรับพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ชลบุรี, เชียงใหม่, ปทุมธานี และสมุทรปราการ) จะขยายสิทธิเป็น 2 ล้านราย ให้กดขอสินเชื่อได้ในช่วงเย็นของวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 และขยายเพิ่มเป็น 6 ล้านรายทั่วประเทศ ภายในต้นสัปดาห์ถัดไป

“ผู้ที่เคยกู้สินเชื่อตามมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 มาแล้ว ทั้งที่เป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาท/ราย และสินเชื่อเสริมพลังฐานรากวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท/ราย มีสิทธิขอกู้โครงการสินเชื่อสู้ภัย โควิด-19 ครั้งนี้ได้อีก สามารถกดรับสิทธิได้ ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 15 พฤษภาคมนี้เช่นเดียวกัน ขอแจ้งให้ประชาชนโปรดติดตามและกดเข้าแอพพ์เพื่อตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ตามกำหนดเวลาดังกล่าว”นายวิทัยกล่าว

ขณะที่นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การระบาดของโควิดระลอก 3 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการ โรงแรม ร้านอาหาร รถบริการรับส่งคน ซึ่งมีพนักงานและลูกจ้าง ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทำให้รายได้หายไปหรือลดลง และมีสัญญาณว่าลูกหนี้รายย่อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น

Advertisement

จากการประเมินของสถาบันการเงินพบว่าลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเดิมยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง และมีลูกหนี้ใหม่ที่ต้องการรับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความเปราะบางที่สะสมมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรก จำเป็นต้องช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงินต่อไป

ด้านน.ส.วิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท. กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ธปท.ร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสมาคมและชมรมต่างๆ รวม 8 แห่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 โดยยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น มุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน

“ความช่วยเหลือครั้งนี้จะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท คือ 1.บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น และจ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง

Advertisement

2.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด สำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ หากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้” น.ส.วิเรขากล่าว

น.ส.วิเรขากล่าวว่า 3.เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม และปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ หากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ และ

4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันไดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยเปิดให้ลูกนี้แจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม-31 ธันวาคมนี้ ผ่านช่องทางต่างๆของผู้ให้บริการทางการเงิน

น.ส.วิเรขา กล่าวว่า นอกจากนี้ ธปท.ยังมีช่องทางสนับสนุนการช่วยเหลือลูกหนี้ ได้แก่ 1. มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ และจะเพิ่มการไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อในระยะต่อไป 2.โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ทาง www.bot.or.th/app/doctordebt/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image