โจทย์กู้เศรษฐกิจหลังฉีดวัคซีน เอกชน-นักวิชาการชี้ทางรอดต้อง‘ยาแรง’

โจทย์กู้เศรษฐกิจหลังฉีดวัคซีน เอกชน-นักวิชาการชี้ทางรอดต้อง‘ยาแรง’

โจทย์กู้เศรษฐกิจหลังฉีดวัคซีน เอกชน-นักวิชาการชี้ทางรอดต้อง‘ยาแรง’

จากการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของทุกประเทศทั่วโลก และขณะนี้เริ่มเห็นภาพรัฐบาลในหลายประเทศ ยอมให้ประชาชนของตนถอดหน้ากากอนามัย และปล่อยให้จัดกิจกรรมทางการค้าหรือเพื่อความบันเทิงได้ตามปกติแล้ว หลายเมืองหลายประเทศเห็นภาพการเดินทางหรือการสังสรรค์ทานหรือดื่มแบบไม่ต้องเว้นระยะห่าง ทำให้ทั่วโลกเกิดความหวังมากขึ้นต่อการคลี่คลายลงของการแพร่ระบาดโควิด-19 และความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ก็ต้องติดตามว่าจากนี้เราจะเห็นอะไร ทั้งการเยียวยา และความช่วยเหลือ!!

⦁เริ่มอัดเงินเข้าฟื้นฟูระบบศก.
ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทยอยประกาศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบมูลค่ามหาศาล อาทิ สหรัฐ ประกาศกระตุ้นเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เกิดเม็ดเงินเข้าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่ม แต่สิ่งที่ตามมา คือ ความกังวลเกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งแรง ผลจากระดับราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการจับจ่ายใช้สอย สวนทางกับความจริงที่ว่าความสามารถหารายได้ยังไม่เท่าเดิม อาจใช้จ่ายไม่สม่ำเสมอ เศรษฐกิจภาพรวมจะฟื้นแบบเชื่องช้า อัตราฟื้นไม่กลับเท่าปกติได้ รายได้ของคนส่วนใหญ่อาจอยู่ระดับเดิมหรือลดลงได้อยู่ หากสินค้าและบริการแพงขึ้น รายจ่ายมากขึ้นแต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นตาม ประเทศมหาอำนาจใช้การพิมพ์แบงก์อัดเข้าระบบเพื่อให้คนของตนมีเงินใช้เฉพาะหน้า ระยะอันสั้น แต่เนื้อแท้การใช้จ่ายและรายได้ยังไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรง จึงเริ่มวิตกว่าเศรษฐกิจโลกอาจเกิดภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งทั่วโลกเฝ้าติดตามจากมาตรการที่สหรัฐอัดเงินช่วยเหลือจากปัญหาโควิด เนื่องจากสัญญาณเตือนเริ่มมีขึ้นแล้ว คือ ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นแบบไม่สอดคล้องกับพื้นฐานที่แท้จริง โดยเฉพาะราคาสินทรัพย์เสี่ยง อย่างหุ้นหรือสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ ถือเป็นแรงเก็งกำไรที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อถึงจุดอิ่มตัว แรงเก็งกำไรเหล่านั้นลดลง ความตึงของฟองสบู่จะแตกในที่สุด

แม้ขณะนี้ไทยจะยังไม่เห็นสัญญาณเงินเฟ้อหรือภาวะฟองสบู่แตกเกิดขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ออกมาเผยแพร่ว่าเงินเฟ้อไทยช่วงก่อนเข้าปลายปีจะมีอัตราที่สูงขึ้นมาก ส่วนเงินคนมีเงินในกระเป๋าจากมาตรการรัฐพยุงจับจ่ายและสินค้าควบคุมให้ลดลงไม่ได้ และอย่างไรไทยถือเป็นประเทศพึ่งพารายได้จากต่างชาติเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น เศรษฐกิจไทยย่อมเกิดความเสี่ยงตาม บวกกับขณะนี้ไทยยังต้องเผชิญกับผลกระทบของการระบาดโควิดระลอกใหม่ ที่ยังไม่สามารถจบลงได้ แผนรับมือของรัฐบาลที่จะต้องประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ จึงถือเป็นความสำคัญสูงสุด

Advertisement

⦁ต้องกล้าใช้ยาแรงกู้เศรษฐกิจ
นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) มองว่า พอโควิด-19 ระลอก 3 เกิดขึ้น ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ไม่ดีมากนัก ก็ต้องทรุดลงอีกครั้งทำให้ขณะนี้หลายครอบครัวเดือดร้อน มีภาระหนี้สินมากขึ้น จึงเห็นว่าแม้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดที่ยังระบาดรุนแรงอยู่นั้น ก็ต้องเสี่ยงออกมาทำงานข้างนอก ทำให้ยังมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตอนนี้จึงถือเป็นช่วงที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากที่สุด โดยภาครัฐต้องอัดฉีดเม็ดเงินออกมาช่วยพยุงให้คนกลุ่มนี้อยู่รอดให้ได้ ในรูปแบบที่ออกจากบ้านน้อยที่สุด ซึ่งจะไม่ใช่การให้เม็ดเงินเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายข้างนอกเพิ่มเติมเหมือนที่ผ่านมา โดยอาจใช้วิธีแจกเป็นเงินสดให้กับกลุ่มผู้เดือดร้อนจริงๆ ในวงกว้าง อาจแจก 30 ล้านคนเหมือนที่เคยทำมาก็ได้ แต่ต้องเน้นในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เดือดร้อนจริงๆ ซึ่งเชื่อมั่นว่าภาครัฐมีเครื่องมือในการคัดผู้ที่มีความเดือดร้อนจริงได้ รวมถึงการใช้มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าอินเตอร์เน็ต เพราะผู้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายในส่วนต้นทุนคงที่เหล่านี้ แต่ไม่มีรายได้เพิ่มเติมเข้ามา

“ในระยะแรก 1-2 เดือนนี้ ในช่วงที่การระบาดโควิดยังไม่สามารถคุมได้ รัฐบาลจะต้องทำให้สถานการณ์จบเร็วที่สุด จากนั้นหากสถานการณ์ดีขึ้นจะกลับมาใช้มาตรการช่วยเหลือเยียวยา และกระตุ้นการใช้จ่ายแบบที่เคยมีมาก็ได้ อาทิ คนละครึ่ง เราชนะ เพราะเป็นโครงการที่เคยทำออกมาแล้ว รัฐบาลมีข้อมูลทั้งหมด จึงสามารถทำออกมาได้เร็ว ถือเป็นการช่วยเหลือเยียวยาที่รวดเร็วด้วย โดยต้องยอมรับว่าสิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือ จำนวนผู้ที่ตกงาน ซึ่งอาจพุ่งสูงทะลุหลักล้านคนได้ รวมถึงสิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลย คือ การช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ใช่แค่มาตรการทางการเงินเท่านั้น แต่ควรมีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือให้ชัดเจน รวมถึงรัฐอาจใช้มาตรการแรงยาแรง อย่างการลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ต่างๆ ให้ในทันที เพื่อกระตุกให้ธุรกิจฟื้นตัวก่อน ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม” นณริฏกล่าว

การระบาดโควิดที่ซ้ำเติมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระลอกแรก จนถึงระลอก 3 ที่ผ่านมาแล้วเดือนกว่าๆ แต่รัฐบาลยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ สะท้อนได้จากการพบคลัสเตอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละคลัสเตอร์เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่กลุ่มใหญ่ และอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการกระจายเชื้อแพร่ระบาดได้ในวงกว้าง นอกจากความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจหลายประเภทในประเทศด้วย เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่สดใสเท่าที่ควร การใช้จ่ายชะลอตัว ความต้องการซื้อลดลง การผลิตก็ต้องลดลงตามอัตโนมัติ สิ่งที่ถูกกระทบคือ ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ทั้งยอดขายและกำไร

Advertisement

⦁เอกชนชี้อย่ามองข้าม‘ฟองสบู่’
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) มองว่า หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจในภาพรวม ทางออกของวิกฤตในครั้งนี้คือ รัฐบาลจะต้องเร่งนำเข้าวัคซีนต้านไวรัส และระดมฉีดให้กับประชาชนในประเทศ จนสามารถเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ ซึ่งจะต้องพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชน ให้มีความเชื่อมั่นและต้องการรับวัคซีนให้มากที่สุด แต่รัฐบาลก็ต้องมีการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่ชัดเจนไว้ด้วย ว่าหากมีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้ว เกิดผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิดขึ้น จะชดเชยให้อย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพราะนอกจากการฉีดวัคซีนให้ประชากรมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ยังมองไม่เห็นว่าจะมีทางออกใดอีก

สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนประเทศต่อไปนั้น เครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจตัวแรกคือ ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเปิดนำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อดึงบรรยากาศในภาพรวมกลับมา ก่อนจะกระตุ้นการเดินทางทั้งตลาดเที่ยวในประเทศ และตลาดต่างชาติเที่ยวไทย เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เราไม่สามารถพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลักอย่างเดียวได้แล้ว เพราะเมื่อเกิดวิกฤตที่กระทบกับรายได้จากต่างชาติ ภาคธุรกิจแทบล้มทั้งยืน ส่งผลเกี่ยวเนื่องกับการจ้างงาน รายได้ของครอบครัว และความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนด้วย ส่วนการที่วัคซีนเข้ามาฉีดให้คนไทยล่าช้ากว่าคาด ทำให้ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ บวกกับเริ่มเห็นหลายประเทศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะใช้การฉีดวัคซีนฟรีมาเป็นตัวดึงดูดใจ จะทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย ถูกแย่งไปหรือไม่นั้น เบื้องต้นมองว่า การฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองในหลายๆ ประเทศ มีความล่าช้าไม่แตกต่างกัน แม้จะมีหลายประเทศที่เริ่มฉีดได้เกือบครบ และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในแบบที่ไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยแล้ว แต่มองว่า กว่าจะอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ หรือท่องเที่ยวระหว่างกันได้ ยังต้องรอการจัดทำวัคซีนพาสปอร์ต ที่ต้องหารือและดำเนินการร่วมกันก่อน จึงประเมินว่า แม้วัคซีนไทยจะล่าช้า แต่กับการเปิดประเทศน่าจะส่งผลกระทบไม่มากนักหากเทียบกับหลายประเทศที่ล่าช้าไม่แตกต่างกัน รวมถึงหลายประเทศส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีนโยบายเปิดให้พลเมืองเดินทางออกนอกประเทศมากนัก

“กว่าจะฉีดวัคซีนให้คนในประเทศได้เกิน 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น เชื่อว่าคงใช้เวลาถึงสิ้นปี 2564 แม้จะคาดหวังให้ทำได้เร็วมากกว่าที่คาดไว้ก็ตาม โดยในไตรมาส 4/2564 คาดว่าทุกอย่างจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น เพราะวัคซีนฉีดได้ในสัดส่วนที่สูงในจำนวนประชากรรวมแล้ว โดยการที่ต่างประเทศสามารถฉีดวัคซีนได้เร็ว มองว่าส่งผลดีกับประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากไทยจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว เข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นได้ซึ่งส่วนนี้ขึ้นอยู่กับการทำแผนกระตุ้นและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย” สุพันธุ์กล่าว

เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องวางแผนดำเนินการไว้อย่างชัดเจนคือ โครงการลงทุนของรัฐบาลทั้งหลาย จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติได้ รวมถึงการที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐ ยุโรป ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการใส่เม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จนสร้างความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ หรือการเกิดฟองสบู่ย่อยขึ้นหรือไม่นั้น ประเมินว่าแม้จะมีความกังวลอยู่ แต่ภาวะเหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ทำให้หากไทยสามารถวางแผนในการเดินหน้าเศรษฐกิจที่ชัดเจนได้ จะเป็นโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่จะย้ายฐานเข้ามาผลิตในประเทศแถบเอเชียได้

⦁เอกชนตั้งทีมพลิกฟื้นประเทศ
สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ก้าวต่อไปหลังเร่งรัดการฉีดวัคซีนแล้วคือการทำอย่างไรที่จะกู้ธุรกิจและเศรษฐกิจให้ฟื้นได้โดยเร็ว อย่าล่าช้าจากประเทศอื่น ไม่อย่างนั้นเราจะเสียเปรียบด้านการค้าโลก ดึงดูดการลงทุน แม้แต่การชิงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าไทยเมื่อโควิดหมดลง ตอนนี้เอกชนได้จัดทีมศึกษาและผลักดันด้านเศรษฐกิจและจะเข้าหารือกับภาครัฐต่อไป

ดังกล่าวสะท้อนว่า ทุกภาคส่วนล้วนฝากความหวังไว้ที่รัฐบาล ให้แสดงแสนยานุภาพในการคุมโควิดให้จบเร็วที่สุด ควบคู่ไปกับการเดินหน้าประเทศไทย ให้สมกับความเข้มแข็งในด้านความมั่นคงของชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image