สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 1 ติดลบ 2.6% แนะเร่งฉีดวัคซีน ฟื้นเศรษฐกิจ

สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 1 ติดลบ 2.6% แนะเร่งฉีดวัคซีน ฟื้นเศรษฐกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าวรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1 ประจำปี2564 ระบุว่า จีดีพีติดลบ 2.6% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 ที่ติดลบ 4.2% และเมื่อปรับผลฤดูกาลออกแล้ว จีดีพีขยายตัวดีขึ้นขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 0.2%

เมื่อดูด้านการใช้จ่ายพบว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวติดลบ 0.5% ภาครัฐ ขยายตัว 2.1% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.0% การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 19.6% ปริมาณการส่งออกภาคสินค้า ขยายตัว 3.2% ปริมาณการส่งออกภาคบริการ หดตัวติดลบ 63.5%

นายดนุชา กล่าวว่า คาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2564 จะขยายตัว 1.5 – 2.5 % หรือประมาณ 2.0% ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 10.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 1.6% และ 4.3% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 9.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0 – 2.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7% ของจีดีพี

Advertisement

ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความล่าช้าในการกระจายวัคซีน ทำให้มีแนวโน้มการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวมีความล่าช้า ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 แสนคน สร้างรายได้เพียง 1.7 แสนล้านบาท ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อีกทั้งฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจมีปัญหาสภาพคล่อง ในขณะที่ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

นายดนุชา กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ การควบคุมการแพร่ระบาด และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด การส่งเสริมส่งออกสินค้า การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ

“วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเคลื่อนตัวไปได้ในระยะถัดไป เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือในการรับฟังข้อมูลและกระจายข้อมูล จากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เพื่อที่จะให้การฉีดวัคซีนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น” นายดนุชา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image