‘สภาพัฒน์’ ปรับจีดีพีเหลือ 2.5% กินในร้านวันแรกเหงา คนยังกลัว

‘สภาพัฒน์’ ปรับจีดีพีเหลือ 2.5% กินในร้านวันแรกเหงา คนยังกลัว

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าวรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า จีดีพีติดลบ 2.6% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 ที่ติดลบ 4.2% และเมื่อปรับผลฤดูกาลออกแล้ว จีดีพีขยายตัวดีขึ้นขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 0.2%

นายดนุชากล่าวว่า เมื่อดูด้านการใช้จ่ายพบว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวติดลบ 0.5% ภาครัฐ ขยายตัว 2.1% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.0% การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 19.6% ปริมาณการส่งออกภาคสินค้า ขยายตัว 3.2% ปริมาณการส่งออกภาคบริการ หดตัวติดลบ 63.5% คาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2564 จะขยายตัว 1.5 – 2.5 % หรือประมาณ 2.0% ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

นายดนุชากล่าว9jvว่า ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 10.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 1.6% และ 4.3% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 9.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0-2.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7% ของจีดีพี

Advertisement

นายดนุชากล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความล่าช้าในการกระจายวัคซีน ทำให้มีแนวโน้มการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวมีความล่าช้า ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 แสนคน สร้างรายได้เพียง 1.7 แสนล้านบาท ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อีกทั้งฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจมีปัญหาสภาพคล่อง ในขณะที่ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

นายดนุชากล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ การควบคุมการแพร่ระบาด และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด การส่งเสริมส่งออกสินค้า การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ

“วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเคลื่อนตัวไปได้ในระยะถัดไป เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือในการรับฟังข้อมูลและกระจายข้อมูล จากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เพื่อที่จะให้ดารฉีดวัคซีนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น” นายดนุชากล่าว

ด้าน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลได้อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ถึง 21.00 น. จำนวนไม่เกิน 25% และเปิดให้ขายอาหารแบบซื้อกลับบ้านได้ถึง 23.00 น. ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม เป็นต้นไป เบื้องต้นบรรยากาศยังคงเงียบเหงาอยู่ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังคงกังวลการระบาดโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อรายวันในจำนวนสูงมาก และพบผู้ติดเชื้อกระจายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จึงยังงดเว้นการออกจากบ้าน หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ โดยสมาคมฯ อยู่ระหว่างให้สมาชิกประเมินผลเชิงบวกอยู่ว่าการผ่อนปรนของรัฐบาลจะสามารถดึงยอดขายกลับมาได้มากหรือน้อยเท่าใด

นางฐนิวรรณกล่าวว่า เบื้องต้นพิจารณาจากสัดส่วนที่รัฐกำหนดให้นั่งทานในร้านได้ 25% จากยอดทั้งหมดแบ่งเป็นยอดขายจากการนั่งทานที่ร้านมีประมาณ 80% ส่วนอีก 20% เป็นการซื้อกลับบ้านบวกกับการขายผ่อนช่องทางออนไลน์ มองว่ายอดขายคงดึงกลับมาได้มากสุด ไม่เกิน 50% จากยอดขายทั้งหมด เทียบกับภาวะปกติ ส่วนจะคิดเป็นเม็ดเงินเท่าใดนั้น ต้องขอประเมินภาพที่ชัดเจนอีกครั้งก่อน

“การที่รัฐบาลอนุญาตให้เปิดนั่งทานที่ร้านได้แล้ว ถือเป็นส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ยังมีความจำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้าน อาทิ ทำงาน ทำธุระส่วนตัว หากหิวก็สามารถนั่งทานที่ร้านได้ จากเดิมที่ต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น กระทบกับผู้ต้องทำงานนอกบ้าน เพราะไม่มีพื้นที่สาธารณะในการซื้อกลับไปทานที่อื่น นอกจากนั่งทานที่ร้านได้ เมื่อเปิดให้นั่งที่ร้านได้ ผู้ประกอบการก็สามารถเปิดร้านได้เต็มที่มากขึ้น ถือเป็นทางออกทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้” นางฐนิวรรณกล่าว และว่า สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการตอนนี้คือ การฉีดวัคซีนให้กับคนในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะมีผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image