คิดเห็นแชร์ : วัฏจักรการ Restock สินค้าทั่วโลก ยังไปต่อถึงปีหน้า

คิดเห็นแชร์ : วัฏจักรการ Restock สินค้าทั่วโลก ยังไปต่อถึงปีหน้า

คิดเห็นแชร์ : วัฏจักรการ Restock สินค้าทั่วโลก ยังไปต่อถึงปีหน้า

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ผมจะขอแชร์มุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวมาตั้งแต่หลายประเทศเริ่มทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในหลายประเทศเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ล่าสุดผู้ประกอบการทั่วโลกเริ่มทำการสั่งซื้อสินค้าทั้งสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบเพื่อทำการผลิตสินค้า หรือ Restock อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมาและยังต่อเนื่องถึงปัจจุบัน จนเกิดปรากฏการณ์เรือคอนเทนเนอร์และตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้าขาดแคลนไปทั่วโลก คำถามที่สำคัญคือ การ Restock สินค้าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกนานเพียงใด เพราะมีผลต่อการวางแผนการผลิตของผู้ผลิตสินค้าสำหรับการส่งออก และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับเศรษฐกิจไทยเช่นกัน เนื่องจากการส่งออกสินค้าถือเป็น 1 ในเครื่องยนต์สำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจไทย ในขณะที่การท่องเที่ยวหยุดชะงักเพราะปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน

อ้างอิงจากบทวิเคราะห์เศรษฐกิจของ ฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ไต้หวัน) ประเมินว่าวัฏจักรการ Restock สินค้าของโลก โดยปกติจะกินเวลาราว 3.0-3.5 ปี ซึ่งหากนับจุดต่ำสุดของวัฏจักร รอบนี้คือ ไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ “Recession” ผู้ประกอบการทั่วโลกทำการลดสินค้าคงคลังลง ฝ่ายวิจัยประเมินว่าจุดสูงสุดของการ Restock ทั่วโลกรอบนี้น่าอยู่ที่ช่วงกลางปี 2565 ดังนั้นหากเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยคาด เราน่าจะเห็นตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่ยังเร่งตัวขึ้นทุกไตรมาสหลังจากนี้จนถึงกลางปี 2565 ซึ่งจะสอดคล้องกับประมาณการ การค้าระหว่างประเทศ (สินค้าและบริการ) โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่าอัตราการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศในปี 2564-65 ไว้เท่ากับ +8.4% YoY และ +6.5% YoY ตามลำดับ หลังจากที่ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในปี 2563 ลดลงไป -8.5% YoY ทั้งนี้ ผลจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาและในช่วงที่เหลือของปี 2564 ผลกระทบที่ตามมาคือ ราคาสินค้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ราคาสินค้าเกษตร ราคาเหล็กและวัสดุก่อสร้าง ราคาเม็ดพลาสติก เป็นต้น มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้น เนื่องจากมีความต้องการจากผู้ประกอบการทั่วโลกในการเร่งนำเข้าวัตถุดิบเพื่อเตรียมการผลิตสินค้าให้ทันต่อความต้องการ จึงทำให้เกิดความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะที่ราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวขึ้น ที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดี ล่าสุดการชะลอตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่เกิดขึ้นจากความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบที่อาจเพิ่มขึ้นจากการกลับมาส่งออกน้ำมันของประเทศอิหร่าน อาจะช่วยชะลอภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นได้ชั่วคราว

แม้ว่าความต้องการสั่งซื้อสินค้าทั่วโลกจะเร่งตัวขึ้นก็ตาม แต่ผมประเมินว่าสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาจเกิดภาวะชะลอตัวชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 เนื่องจากในขณะนี้เกิดภาวะอุปทานของชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่อย่าง เซมิคอนดักเตอร์ ขาดตลาด ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องทำการปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ลงจากเดิม สำหรับประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ

ไทย (ส.อ.ท.) ยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้รวมไว้ที่ 1.5 ล้านคัน หรือฟื้นตัว +5% YoY ซึ่งเป็นเป้าหมายแบบอนุรักษ์ของทาง ส.อ.ท. โดยมีโอกาสที่เป้าหมายการผลิตรถยนต์จะปรับขึ้นเป็น 1.7 ล้านคันได้ หากสถานการณ์ อุปทานเซมิคอนดัคเตอร์ที่ขาดแคลนในปัจจุบันคลี่คลายได้เร็ว ซึ่งล่าสุดฝ่ายวิจัย บล. เคจีไอ (ไต้หวัน) ออกบทวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์ อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ว่าจะสามารถกลับมาผลิตได้เป็นปกติในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 และส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ทั่วโลกกลับมาเร่งตัวขึ้นได้อีกครั้ง และยอดผลิตรถยนต์ทั่วโลกจะยังเร่งตัวขึ้นในปี 2565 หากเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยฯคาดการณ์ ผมเชื่อว่าอาจจะเห็นการเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ได้เช่นกัน

ADVERTISMENT

สุดท้ายนี้สำหรับประเด็นเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากราคาสินค้าที่มีแนวโน้มแพงขึ้น ผมประเมินว่าในภาพรวมถือเป็นประเด็นที่เป็นบวกกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังอิงกับสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้น หากพิจารณาเครื่องยนต์สำคัญๆ ของเศรษฐกิจไทย จะเห็นว่าพร้อมที่จะกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว เหลือเพียงเครื่องจักรตัวสุดท้ายคือ “การท่องเที่ยว” ที่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุด ว่าจะสามารถควบคุมได้เร็วเพียงใด ซึ่งหวังว่าการเริ่มปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.2564 นี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาทำงานได้ตามปกติได้ทันช่วง High season ปลายปีนี้

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)