จับตาเงินกู้ 7 แสนล้าน เค้กก้อนใหม่ฟื้น ศก.ไทย ผ่านเลนส์‘นักวิชาการ-เอกชน’ถึงรัฐบาล!!

จับตาเงินกู้ 7 แสนล้าน เค้กก้อนใหม่ฟื้น ศก.ไทย

วาระร้อนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ คือ การออกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่รู้จักกันดีในชื่อ ร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 7 แสนล้านบาท เพิ่มจากวงเงินกู้ตัวเก่า 1 ล้านล้านบาท ที่ปัจจุบันเหลือเพียง 1.65 หมื่นล้านบาทเท่านั้น!

ขณะที่โควิดยังรุนแรง เสี่ยงระบาดซ้ำ การฉีดวัคซีนให้คนไทยยังต้องใช้เวลา การตัดสินใจกู้เพิ่มเพื่อสำรองเงินไว้ใช้จ่าย จึงเป็นเรื่องที่รัฐไม่อาจเลี่ยงได้ “มติชน” พูดคุยกับนักวิชาการและเอกชน ถึงข้อเสนอแนะการใช้เงินนับจากนี้

⦁นักวิชาการแนะดูแลธุรกิจย่อยอุ้มแรงงาน
อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง แสดงความเห็นว่า งบประมาณปี 2565 ยังไม่เพียงพอต่อการบริหารประเทศและรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่การเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าแน่นอน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกสาม และน่าจะมีระลอกสี่ตามมาอีก จึงมีความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มเติม

ขนาดของงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาวิกฤตขณะนี้ อันเป็นผลจากการบริหารจัดการโดยภาพรวมยังไม่มีความสมดุลระหว่างผลกระทบทางด้านสาธารณสุขและผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์ผิดพลาดและดำเนินงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหาวิกฤตลุกลามกว่าที่ควรจะเป็น

Advertisement

แม้การกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายมีความจำเป็น แต่เงินเหล่านี้จะเป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนผู้เสียภาษีต้องร่วมกันรับผิดชอบ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไม่ควรออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อให้รัฐสภา ผู้แทนประชาชนร่วมตรวจสอบการใช้งบให้มีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย

ก่อนจะกู้เงินเพิ่มอีก 7 แสนล้านบาท รัฐบาลควรปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เลื่อนการใช้งบที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนไปก่อน อย่างการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หันมาจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์แทน

การกู้เงิน 7 แสนล้านบาทจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เกือบจะแตะเพดานที่กำหนด 60% หากเศรษฐกิจขยายได้ไม่ถึง 2% ในปีนี้ หนี้สาธารณะจะชนเพดาน หากเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องอีก ก็ต้องใช้เงินเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจและเยียวยาความยากลำบากทางเศรษฐกิจต่อไปอีกหลายปี ดังนั้น รัฐบาลต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีและเก็บภาษีทรัพย์สินให้ได้มากพอ หรือต้องแก้กฎหมายเพื่อขยับเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งกรณีหลัง รัฐบาลจะหลุดกรอบวินัยทางการเงินการคลัง ประเทศน่าจะมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตได้

Advertisement

จึงควรนำเงินกู้ไปใช้เรื่องของการทำอย่างไรไม่ให้ธุรกิจและกิจการต่างๆ ล้มละลายหรือปิดกิจการ เพราะคาดว่าการระบาดรอบสามอาจก่อปัญหาการว่างงานจากวิกฤตเลิกจ้างที่อาจรุนแรงกว่าปีก่อน หากภาคส่งออกไม่ขยายตัวตามเป้า ส่วนการคาดหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยกว่า 1-2 ล้านคนปีนี้ มีความเป็นไปได้น้อยมาก แรงงานภาคการท่องเที่ยว บริการ อาหาร บันเทิง มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงสุด ล่าสุดการติดเชื้อลุกลามไปโรงงานอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก หากส่งออกชะงัก ไทยจะสูญเสียโอกาสการเริ่มฟื้นตัว

⦁แอตต้าโอดเข้าไม่ถึงสินเชื่อฟื้นฟูจี้ตั้งกองทุน
ด้าน อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวอยากเห็นรัฐบาลอัดฉีดเงินกู้รอบใหม่รองรับการเปิดประเทศในอนาคต ตอนนี้ผู้ประกอบการมีความอ่อนแอมาก ได้รับผลกระทบมาเป็นปีแล้ว แต่ได้รับการเยียวยาในสัดส่วนน้อย การให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการกลับมาเปิดประเทศ เป็นปัจจัยที่รัฐบาลต้องพิจารณา อยากเห็นรัฐบาลจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยว เหมือนกับการตั้งกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จำนวน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้มีเงินตั้งต้นในการกลับมาใหม่ เพราะ 1 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เนื่องจากเงินเก็บที่สะสมมาหมดแล้ว

ทั้งนี้ ต้องการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม คือ 1.มาตรการพักชำระหนี้ ที่ยังติดข้อจำกัดของสถาบันการเงินอยู่ รัฐบาลอาจจะมีมาตรการอื่นๆ มาช่วยเสริม 2.มาตรการยกเว้นภาษี เป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสฟื้นตัว 3.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำอาชีพเสริม หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ ระหว่างรอการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามา 40 ล้านคน ในช่วงปี 2567 ในช่วงปี 2564-2565 ต้องมีมาตรการออกมาฟื้นฟูกิจการ ให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ

สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการทัวร์เที่ยวไทย อาจจะเริ่มใหม่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ รอโควิด-19 คลี่คลายลง มีการกระจายฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ จะทำให้คนกล้าออกมาเดินทางท่องเที่ยว จนโครงการจบช่วงปลายปี หลังจากนั้นต้องมาดูว่ารัฐบาลจะมีแนวทางช่วยในภาคการตลาดอย่างไร ช่วยกระตุ้นความต้องการท่องเที่ยวอย่างไร

สำหรับโครงการสินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้ ที่ออกมาใหม่ ผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอล สถาบันการเงินพิจารณาธุรกิจการท่องเที่ยวว่าไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ มีความเสี่ยงสูง จึงควรตั้งกองทุนฟื้นฟูการท่องเที่ยวจะเหมาะสมกว่า

⦁หอค้าวอนเทรนนิ่งลูกจ้างทำงานข้ามสาย
ด้าน วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่า การฉีดวัคซีนคือแสงสว่างปลายอุโมงค์ เงินกู้รอบใหม่ต้องช่วยให้ธุรกิจกลับมาเดินต่อได้ กลับมาผลิตสินค้าได้ เพราะบางกิจการกลับมาผลิตไม่ง่าย การกลับมาเปิดกิจการใหม่ต้องมีหลายเรื่องที่ทำ อาทิ การเทรนนิ่งแรงงานใหม่ เงินลงทุนรอบใหม่ ต้องเสริมสภาพคล่อง

ตอนนี้มีแรงงานตกงานจำนวนมาก ทำอย่างไรจะนำแรงงานเหล่านี้มาทำงานได้ โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการย้ายไปทำงานด้านการผลิตแบบไม่มีสัญญาผูกมัด ไม่มีกฎเกณฑ์มากนักเพื่อให้กลับไปทำงานเดิมได้เมื่อสถานการณ์สู่ปกติ

อยากให้เงินกู้รอบใหม่นำไปใช้ในเรื่องของการอัพสกิล รีสกิล ให้แรงงานที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง ได้เรียนรู้ทักษะการทำงานด้านอื่นในสถานการณ์ขณะนี้

และหอการค้าไทยได้ส่งสัญญาณถึงกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งหาทางออกที่ยังติดขัด โครงการสินเชื่อฟื้นฟูจึงยังไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการได้

เป็นเสียงสะท้อนต่อรัฐที่หลากหลาย แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ใช้เงินกู้ก้อนใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image