‘สภาพัฒน์’ เผย โควิดฉุดว่างงาน ไตรมาส 1/64 เพิ่ม 7.6 แสนคน

‘สภาพัฒน์’ เผย โควิดฉุดว่างงาน ไตรมาส 1/64 เพิ่ม 7.6 แสนคน

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยระหว่างการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1/2564 ว่า จากการประเมินอัตราการว่างงาน ในช่วงไตรมาสที่ 1/2564 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น 7.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96% สูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิดที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนการจ้างงานในช่วงไตรมาสที่ 1/2564 พบว่ามีการขยายตัวเล็กน้อย หรือเพิ่มขึ้น 0.4% จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคเกษตรตามภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวยังหดตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

นายดนุชา กล่าวอีกว่า ขณะที่จำนวนชั่วโมงการทำงานรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 129.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอรองรับเด็กจบใหม่ เนื่องจากภาคธุรกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่อง อาจไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะจ้างแรงงานใหม่ ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อการจ้างงานของเด็กจบใหม่กว่า 4.9 ล้านคน

นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนของการประเมินหนี้ครัวเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4/2563 พบว่าหนี้ครัวเรือนมีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จาก คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว แม้หนี้ครัวเรือนจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลงสะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังระมัดระวังในการก่อหนี้ ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังเนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อ ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ยังอยู่ในระดับสูง

Advertisement

นายดนุชา กล่าวอีกว่า ด้านความสามารถในการชำระหนี้ ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต้องเฝูาระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาส 4/2563 สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอลเอส) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจาก 2.91% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วง ที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษยังอยู่ในระดับสูง หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 6.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2563 สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มด้อยลง และมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น

นายดนุชา กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image