โควิดกระทบ! โรงแรมภาคใต้ ปิดให้บริการ90% นักท่องเที่ยวหาย ยอดเข้าพักพ.ค.เหลือ1%

โควิดกระทบ! โรงแรมภาคใต้ ปิดให้บริการ90% นักท่องเที่ยวหาย ยอดเข้าพักพ.ค.เหลือ1%

เมื่อวันที่  25 พ.ค.นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตในขณะนี้ บรรยากาศเงียบเหงามาก หลังตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยหายไปเกือบ 100% เพราะการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากกระจายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ส่งผลกระทบซ้ำเติมกับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป 100% เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมในตอนนี้เปิดให้บริการเพียง 10%

นับเป็นจำนวนโรงแรมที่เปิดประมาณ 300 แห่ง หรือ 30,000 ห้องพักเท่านั้น โดยผู้ประกอบการโรงแรมที่ยังเปิดให้บริการอยู่ขณะนี้ ก็เป็นการเปิดเพื่อให้พนักงานยังมีงานทำอยู่ แต่อาจเปลี่ยนหน้าที่เป็นการดูแลโรงแรมแทนการให้บริการนักท่องเที่ยวตามปกติ

เนื่องจากการปิดโรงแรมชั่วคราว จะมีเรื่องต้นทุนค่าเสื่อม และการปรับปรุงเมื่อต้องการกลับมาเปิดให้บริการใหม่อีกครั้ง ซึ่งโรงแรมบางรายที่ยังเปิดให้บริการอยู่ตอนนี้ ก็เพิ่งกลับมาเปิดใหม่ หลังจากปิดชั่วคราวไปในช่วงที่ผ่านมา เพื่อรองรับการท่องเที่ยวช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา ซี่งคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอก 3 ทุกอย่างก็กลับมาหยุดชะงักอีกครั้ง

“อัตราการเข้าพักในเดือนเมษายน อยู่ที่ 10-15% ซึ่งแม้เดือนเมษายน จะเริ่มเกิดการระบาดโควิดแล้ว แต่ยังเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภูเก็ตอยู่ เนื่องจากยังไม่มีประกาศมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นจากรัฐบาล อีกทั้งคนส่วนใหญ่มีการจองการเดินทางและโรงแรมที่พักไว้แล้ว บวกกับเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ด้วย จึงยังเห็นการเดินทางอยู่

Advertisement

แต่อัตราการเข้าพักในเดือนพฤษภาคม ลดลงเหลือเพียง 1% เท่านั้น เพราะมีข้อจำกัดด้านมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐบาลแล้ว รวมถึงพบการระบาดและผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงในภูเก็ตเองด้วย จึงเริ่มเห็นภาพการเข้ามาท่องเที่ยวของตลาดคนไทยหายไป” นายก้องศักดิ์ กล่าว

นายก้องศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ตามกำหนดจะต้องได้รับการส่งมอบในเดือนพฤษภาคม จำนวน 1.7 ล้านโดส แต่ล่าสุดคาดว่าจะถูกเลื่อนออกไปส่งมอบในเดือนมิถุนายนนี้ รวมกับจำนวน 4.3 ล้านโดส ตามกำหนด โดยเบื้องต้นมองว่า การที่วัคซีนไม่สามารถมาได้ตามกำหนดนั้น จะส่งผลกระทบต่อการกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งผลกระทบจะถูกส่งต่อเนื่องไปยังบรรยากาศภาพรวม ความเชื่อมั่น และภาวเศรษฐกิจด้วย

จึงมองว่า รัฐบาลควรบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการเร่งนำวัคซีนเข้ามาให้ได้ตามที่กำหนดไว้ และหากสามารถเร่งฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วที่สุดยิ่งดี เพราะจะเป็นการบริหารความยืดหยุ่นในการจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ให้น้อยลง ในส่วนของภูเก็ต ที่กำหนดให้นำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ หากวัคซีนเข้ามาไม่เพียงพอ ทำให้คนในภูเก็ตไม่ได้รับวัคซีนครบ 70% จากจำนวนคนทั้งหมดในพื้นที่

ซึ่งเท่ากับว่าไม่สามารถเปิดประเทศได้นั้น ประเมินผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวคงไม่มากไปกว่านี้แล้ว เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในตอนนี้ ถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสในการเปิดประเทศ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการกำหนดไทม์ไลน์เปิดรับต่างชาติ ก็ได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านตัวแทนทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศเป้าหมายต่างๆ แล้ว ซึ่งหากเปิดไม่ได้จริง จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติแน่นอน โดยการเลื่อนมาเที่ยวไทย หากไม่สามารถเข้ามาในเดือนกรกฎาคมนี้ได้ จะเป็นช่วงไตรมาส 4/2564 (ตุลาคม-ธันวาคม) แทน ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 3/2564 จากการประเมินของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าจะสามารถสร้างรายได้ 1.5 แสนล้านบาท หายไปทั้งหมด

นายก้องศักดิ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้กับคนภูเก็ต ขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว จำนวน 1 แสนคน และได้รับวัคซีน 1 โดส จำนวน 2 แสนคน ซึ่งสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้ได้รับวัคซีน 1 โดส จะได้รับอีก 1 โดส รวมเป็นผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส จำนวน 3 แสนคน ซึ่งในระยะถัดไป ต้องรอการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาล ที่เบื้องต้นรอไปและได้รับอนุมัติครบตามจำนวนที่ขอไปแล้ว เหลือเพียงรอการส่งมอบมาให้เท่านั้น โดยความสามารถในการฉีดวัคซีนของภาคเอกชน

ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงมองว่า หากรัฐบาลสามารถจัดสรรวัคซีนมาให้ตามที่กำหนดไว้ได้ และไม่มีการเปลี่ยนเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติม ภูเก็ตจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ตามที่กำหนดไว้แน่นอน นอกจากนี้ มาตรการที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือหลักๆ คือ การลดค่าใช้จ่ายในส่วนต้นทุนคงที่ของโรงแรม การส่งเสริมการจ้างงานผ่านการสมทบค่าจ้างแรงงานระหว่างเอกชนและรัฐบาล (โคเพย์) คนละ 50% ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการกระตุ้นการจ้างงานเด็กจบใหม่ โดยงบประมาณของโครงการคาดว่ายังเหลืออยู่แน่นอน จึงอยากให้โยกงบประมาณมาใช้กับมาตรการโคเพย์มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image