สบน. เผยยังไม่มีการกู้เงินก้อน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ยันหนี้สาธารณะไม่เกิน 60%

สบน. เผยยังไม่มีการกู้เงินก้อน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ยันหนี้สาธารณะไม่เกิน 60%

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงาน บริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน. ยังไม่ได้มีการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เนื่องเพิ่งมีผลบังคับใช้พ.ร.ก.ฉบับนี้ ส่วนการกู้เงินนั้นจะเป็นการทยอยกู้ ตามความจำเป็นและแผนเบิกจ่ายจริง เหมือนกับพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงปีงบประมาณ 2564 จะมีการกู้เงินในพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่เกิน 1 แสนล้านบาท

นางแพตริเซีย กล่าวว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ณ เดือน กันยายน 2564 หรือสิ้นปีงบประมาณ อยู่ที่ 58.56% นั้น มาจากสมมุติฐานที่ว่าได้กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ 1ล้านบาทครบแล้ว 100% รวมกับ ในพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท อีกจำนวน 1 แสนล้านบาท ส่วนการคาดการณ์สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2565 นั้น ขณะนี้ สบน. กำลังทบทวนแผนหนี้ทั้งหมดของปี 2565 อยู่ เนื่องจากยังมีแผนหนี้ที่ขอเข้ามาแล้วไม่สามารถดำเนินการได้อยู่จำนวนค่อนข้างเยอะ จึงทำให้หนี้ของปี 2565 สะสมค่อนข้างมาก ดังนั้นขอเวลาทบทวนแผนหนี้ ปี 2565 ให้ชัดเจนก่อน แต่คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2565 น่าจะใกล้เคียง 60%

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ขณะที่กรณีก่อนหน้านี้มีการเตรียมวงเงินในพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องทางการคลังด้วย แต่พ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติมที่ออกมาล่าสุดนี้ไม่มีนั้น ว่าที่ผ่านมาเป็นเพียงร่างพ.ร.ก. ฉะนั้น พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพียง 3 เรื่อง ได้แก่ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (2) เพื่อช่วยเหลือ และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ส่วนทางด้านการคลัง ก็ต้องพิจารณามิติหลายๆ อย่าง ส่วนจะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการคลังนั้นจะเป็นการบริหารด้านรายได้และรายจ่าย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมฉบับนี้

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ขอยืนยันว่า การตรา พ.ร.ก.เงินกู้นั้น ทำตามกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ประกอบกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 มาตรา 53 ดังนั้นรัฐบาลได้ดำเนินตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ และทุกฉบับ และจากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์ไว้ว่า จำนวนเงิน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้น เมื่อลงสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดในปี 2564-2565 จะทำให้ตัวเลขจีดีพีปรับตัวขึ้นประมาณ 1.5% ดังนั้น เฉลี่ย 0.75% ต่อปี

Advertisement

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ขณะที่การกู้เงินตาม พ.ร.ก. ฉบับที่ 2 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ปรับลดลงจากเอกสารที่มีการเสนอครั้งแรกที่วงเงิน 7 แสนล้านบาท นั้น เป็นการพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นในการใช้เงิน ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่จะส่งผลต่อตัวเลขนี้สาธารณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ต่อจีดีพี ส่วนการจะปรับกรอบหนี้สาธารระนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและประเมินสภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาประเมินกรอบวินัยการเงินการคลังใหม่ ซึ่งจะครบรอบ 3 ปีที่กฎหมายบังคับใช้ โดยหากจำเป็นต้องดูแลเศรษฐกิจผ่านการใช้เงินกู้เพิ่มเติม ก็สามารถขยายเพดานกรอบวินัยการเงินการคลังได้ ถ้าหากเงินกู้ที่ใส่เข้าไปส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว (จีดีพี) ก็ไม่จำเป็นต้องขยับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่ม

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ทั้งนี้ในการพิจารณากรอบวินัยการเงินการคลัง ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ (1) หนี้สาธารณะที่กำหนดกรอบไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 58.56% ต่อจีดีพี (2) หนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการราบได้ประจำปีงบประมาณ กรอบกำหนดไว้ไม่เกิน 35% ปัจจุบันอยู่ที่ 27% จีดีพี (3)หนี้จากการก่อหนี้ในต่างประเทศ กรอบกำหนดไว้ไม่เกิน 10% ปัจจุบันอยู่ที่ 1.8% และ (4) หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ส่งออกสินค้าและบริการ กรอบกำหนดไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ที่ 0.06%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image