‘รัฐบาล’ แจง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท สู้โควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

‘รัฐบาล’ แจง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท สู้โควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สบน.ระบุลดเหลือ 5 แสนล้าน ไม่เกี่ยวหนี้สาธารณะ ‘เอสเอ็มอี’ เฮรอรับซอฟต์โลน

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง พ.ร.ก.เงินกู้ ฉบับที่ 2 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ว่า จากการระบาดของเชิ้อโควิด-19 ในระลอกใหม่ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางหน่วยงานสาธารณสุขได้ดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังสูง ดังนั้น การออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้น จึงเป็นเงินกู้ที่เตรียมไว้ใช้ในช่วงปี 2565 ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่มีความไม่แน่นอน อาจจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีกครั้งได้ ให้เกิดประชาชนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่ใช้ในยามฉุกเฉินได้

ส่วน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น กำหนดการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ 3 แผนงาน ได้แก่ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 30,000 ล้านบาท (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 300,000 ล้านบาท และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 170,000 ล้านบาท

ขณะที่ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า กรณีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ฉบับที่ 2 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ปรับลดลงจากเอกสารที่มีการเสนอครั้งแรกที่วงเงิน 7 แสนล้านบาทนั้น เป็นการพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นในการใช้เงิน ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่จะส่งผลต่อตัวเลขหนี้สาธารณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ต่อจีดีพี

Advertisement

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวความคืบหน้ามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีผลเมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกตระหนักถึงปัญหาและความเร่งด่วนที่จะต้องช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุมผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือ โดยร่วมมือกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จากนี้จะเห็นยอดตัวเลขสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มมากขึ้น มั่นใจจะเป็นไปตามเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ใน 6 เดือนแรกนับจากมาตรการบังคับใช้” นายผยงกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image