ม.หอการค้า เผยรัฐประหารเมียนมา กระทบส่งออกไทย ลดต่ำสุดเท่าที่มี สูญ 9.6 หมื่นล้าน

ม.หอการค้า เผยรัฐประหารเมียนมา กระทบส่งออกไทย ลดต่ำสุดเท่าที่มี สูญ 9.6 หมื่นล้าน

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการศึกษา ปฏิวัติเมียนมา:กระทบการค้าการลงทุนไทยและอาเซียน ว่า 100 วันหลังการปฎิวัติครั้งที่ 4 โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของเมียนมาไตรมาสแรก 2564 หดตัวลง 2.5% สูญเสียการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการว่างงาน 6 แสนคน จำนวนคนไม่มีอาหารกิน 3.4 ล้านคน ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่า18% และรายได้ของครัวเรือนเมียนมาลดลง 83% ราคาน้ำมันเพิ่ม 15% ราคาข้าวขายปลีกเพิ่ม 35% และราคาน้ำมันปาล์มขวดเพิ่ม 20%

บริษัทในเมียนมาที่หยุดดำเนินธุรกิจคือ บริษัทเมียนมา 83% บริษัทญี่ปุ่น 68.4 และบริษัทตะวันตก 67% และคาดว่าจีดีพีปีนี้ของเมียนมาจะหดตัว 10-20% ส่วนเอฟดีไอ(ลงทุนโดยตรง)ปีนี้คาดว่าหายไป 76.1- 85.4% หรือมีมูลค่า 202,902 – 227,698 ล้านบาท โดยเอฟดีไอของเมียนมาที่ลดลงอยู่ในกลุ่ม พลังงาน อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ น้ำมันและก๊าซ ขนส่ง และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยมีโอกาสย้ายการลงทุนจากเมียนมาไป เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และไทย

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยลบส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปเมียนมาปีนี้ลดลง 51.6- 82.2% หรือมีมูลค่า 60,670 – 96,590 ล้านบาท ถือว่าลดลงต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา และทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยหดตัว 0.8-1.3% โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเสี่ยง ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมาก เช่น น้ำมันสำเร็จรูปเครื่องจักรกล เหล็ก ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เภสัชภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเซรามิค

Advertisement

ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง เช่น เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ น้ำมันพืช โทรทัศน์ กุ้ง รองเท้า ผลิตภัณฑ์จากข้าว และเครื่องใช้บนโต๊อาหาร

ขณะที่ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกไปเมียนมาลดลงมากสุด คือ จีน รองลงมาเป็นอาเซียน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ตามลำดับ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีมูลค่าการส่งออกไปเมียนมาลดลงมากคือ ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม

“จากที่ได้ศึกษาหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป จะประทบต่อการส่งออกของไทยไปเมียนมา กว่า 50% หรือมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท เพราะรายได้ของคนเมียนมาหายไปกว่า 80% แสดงว่าไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ไม่มีอาหารกิน 3.4 ล้านคนจากการประเมินขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ปี 2022 ประเมินอีกว่าคนเมียนมาจะไม่มีอาหารกินเกินครึ่งของประชากรในเมียนมา หรือ 20 กว่าล้านคน

Advertisement

นี่คือสถานการณ์ที่หลายองค์กรวิเคราะห์มา จึงส่งผลให้การค้าการลงทุนลดลงแน่ๆ และส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยแม้จะครองแชมป์มาโดยตลอดแต่สัดส่วนลดลงมาจาก 50% เหลือ 40% โดยสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดในเมียนมาเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” นายอัทธ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image