“สุริยะ” ดัน5กลไกช่วยผู้ผลิตฝ่าวิกฤตศก.

“สุริยะ” ดัน5กลไกช่วยผู้ผลิตฝ่าวิกฤตศก.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงศักยภาพภาคผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี2564 ว่า ได้รับรายงานจากสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ถึงการศึกษาผลิตภาพการผลิตรวมของภาคอุตสาหกรรมการผลิต พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(2560-63) ประสิทธิภาพการผลิตรวมของไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น1.45%ต่อปี โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผลิตภาพการผลิตดังกล่าวสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี)ของภาคอุตสาหกรรมที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น0.93%ต่อปี สะท้อนว่าผลิตภาพการผลิตแข็งแกร่ง แม้จะต้องเผชิญกับสภาวะความผันผวนรุนแรงทางเศรษฐกิจและสังคม การแข่งขันที่สูงมากขึ้นทั้งในเรื่องการส่งออก และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งข้อจำกัดด้านแรงงาน

“เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยก้าวผ่านสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ อาทิ เศรษฐกิจโลก โรคระบาด สงครามระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ผู้ประกอบการภาคผลิตไทยจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งใน 5 กลไกสำคัญ คือ 1.การพัฒนาทักษะแรงงาน 2.การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ/กึ่งอัตโนมัติ 3.การบริหารจัดการด้านต้นทุนและการเงิน 4.การยกระดับการผลิตไปสู่รูปแบบการผลิตแบบรับจ้างออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ และการออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการ และ 5. การลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนาในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การจัดการ และการสร้างนวัตกรรมในสินค้า มีการจดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตรต่างๆ”นายสุริยะกล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยสศอ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สศอ. ให้ความสำคัญและติดตามผลิตภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอผ่านการดำเนินงานในโครงการสำคัญต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน สนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและกระบวนการผลิต การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยการช่วยกันพัฒนา 5 กลไกสำคัญตามนโยบายของนายสุริยะไม่เพียงจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจแต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาส ยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image