อธิบดีกรมศิลป์ ไขปมรื้อแบบ ‘ไฮสปีดสถานีอยุธยา’ สั่งศึกษามุดใต้ดิน-เบี่ยงแนวใหม่ ทำHIAเสนอศูนย์มรดกโลก

คณะกรรมการมรดกโลก เคาะ2แนวทางสร้างรถไฟความเร็วสูง”สถานีรถอยุธยา” ให้มุดใต้ดิน เบี่ยงแนวลากไปสร้างบนพื้นที่ใหม่ สั่งคมนาคมทำรายงานผลกระทบHIA เสนอศูนย์มรดกโลกชี้ขาด “อธิบดีกรมศิลปากร””แจงโครงสร้างสูง มีผลต่อภูมิทัศน์ มุมมอง คุณค่าประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม สืบเนื่องกระแสตั้งคำถามกรณีกรมศิลปากรมีความเห็นค้านรูปแบบการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาของกระทรวงคมนาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมโดยกรมการขนส่งทางราง(ขร.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้เสนอรูปแบบการก่อสร้างสถานีอยุธยา ซึ่งเป็น 1 ในสถานีของโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือรถไฟไทย-จีน ต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

หลังจากมีข้อเห็นต่างถึงรูปแบบสถานีที่สร้างบนสถานีรถไฟเดิมและจะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่พระนครศรีอยุธยาที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมเสนอ 5 แนวทางเลือกให้คณะกรรมการฯพิจารณาอนุมัติ

Advertisement

แนวทางแรกก่อสร้างสถานีและทางวิ่งใต้ดินลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีค่าใช้จ่าย 10,300 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (HIA) รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และออกแบบรายละเอียดใหม่

แนวทางที่2 ก่อสร้างเส้นทางรถไฟเลี่ยงพื้นที่มรดกโลกไปบทางขวามือของทางรถไฟ ระยะทาง 30 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 26,360 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 7 ปี ต้องสำรวจเส้นทางใหม่ เวนคืนพื้นที่เพิ่ม 3,750 ไร่ รายงานEIA และออกแบบรายละเอียดใหม่

Advertisement

แนวทางที่ 3 ก่อสร้างสถานีก่อนถึงสถานีรถไฟอยุธยาเดิม หรือเลยออกไปอยู่บริเวณบ้านม้า ค่าใช้จ่าย 500 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี ทำรายงานHIA  EIA ออกแบบรายละเอียด เวนคืนเพิ่ม 200 ไร่พื้นที่สถานีบ้านม้า และประชาชนเดินทางไม่สะดวก

แนวทางที่4 ก่อสร้างสถานีในตำแหน่งสถานีเดิมพร้อมจัดทําผังเมืองเฉพาะ มีค่าใช้จ่าย 80 ล้านบาท จัดทำผังเมืองเฉพาะบริเวณสถานีและทำHIA ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี ออกพระราชกฤษฎีกาผังเมือง

และแนวทางที่5 ก่อสร้างเฉพาะทางวิ่งไปก่อน โดยจะกำหนดที่ตั้งสถานีภายหลัง ค่าใช้จ่าย 50 ล้านบาท ทำรายงานHIA ใช้เวลาดำเนินการเป็นไปตามแผนเดิม แนวทางนี้จะคล้ายกับรถไฟฟ้าMRT สถานีวัดมังกรและBTSสถานีเซนต์หลุยส์

โดยกระทรวงคมนาคมเสนอว่า แนวทางที่4กับแนวทางที่5 เป็นแนวทางที่ดีที่สุด เนื่องจากมีการศึกษาความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อมและโครงการได้รับอนุมัติEIAแล้ว ไม่กระทบต่องบประมาณ ระยะเวลาในการก่อสร้าง สามารถเปิดใช้ได้ตามกำหนดภายในปี2568-2569

ขณะที่แนวทางที่1-3 สถานีและระบบรางที่อยู่ในอุโมงค์มีความเสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วม มีผลกระทบต่องบประมาณ ใช้ระยะเวลาศึกษา สำรวจ ออกแบบ กระทบต่อแผนงานโครงการ

จากประเด็นดังกล่าว นายประทีป เพ็งตะโก  อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ที่ต้องการนำรูปแบบมาพิจารณากันใหม่ เนื่องจากศูนย์มรดกโลกองค์การยูเนสโก ทำหนังสือถึงกรมโดยแสดงความห่วงใยและกังวลผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการต่อพื้นที่มรดกโลก โดยผลประชุมคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วจาก 5 แนวทางเลือกที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอมานั้น แนวทางที่3-5 ไม่แก้ปัญหา และไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากยังสร้างด้วยโครงสร้างทางยกระดับที่พาดผ่านพื้นที่มรดกโลก มีความสูงถึง 20 เมตร จะมีผลต่อภูมิทัศน์ มุมมอง คุณค่าทางประวัติศาสตร์พื้นที่โดยรอบที่มีโบราณสถานเล็กๆอยู่ และการแก้กฎหมายก็ไม่เมคเซ้นส์

ดังนั้นแนวทางที่1และ2 จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นยังเป็นเพียงการประมาณในเบื้องต้น และแม้ค่าใช้จ่ายจะมากขึ้น แต่ก็ต้องทำเพื่อไม่ให้มีผลระทบและเกิดความเสียหายต่อมรดกโลก โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงการศึกษาผลกระทบด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมเป็นสำคัญจึงให้กระทรวงคมนาคมไปออกแบบรายละเอียดและทำรายงานHIA จะมีความเห็นของประชาชน นักวิชาการและการวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการ มาประกอบการพิจารณาเพื่อเสนอต่อศูนย์มรดกโลก โดยกรมจะออกไกด์ไลน์และเนื้อหาการทำHIAให้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการ 180 วัน เป็นอย่างน้อย เพื่อเสนอต่อให้คณะกรรมการแห่งชาติด้วยว่าอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกพิจารณาอีกครั้ง ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในนามประเทศไทย ก่อนที่จะทำรายงานเสนอไปยังที่ประชุมศูนย์มรดกโลก ซึ่งคาด่าผลการศึกษาHIA อาจจะเสนอให้ที่ประชุมศูนย์มรดกโลกพิจารณาไม่ทันภายในปีนี้

“โครงการจะทำได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบใหม่ของกระทรวงคมนาคม และการตัดสินของศูนย์มรดกโลกว่าแบบที่ปรับใหม่จะกระทบต่อพื้นที่มรดกโลกของพระนครศรีอยุธยาหรือไม่ เพราะเป็นเคสแรกของประเทศไทยที่มีการทำHIA ซึ่งพื้นที่มรดกโลกได้มีการขยายพื้นที่จากเดิม 1,800 ไร่เป็น 3,000 ไร่ ไม่ได้อยู่เฉพาะกำแพงเมือง ยังมีชุมชนอาศัยรอบเมืองอีก และสถานีรถไฟก็อยู่ในพื้นที่เป็นสาระสำคัญ ในส่วนของพื้นที่บัฟเฟอร์โซน”อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวทิ้งท้าย

รูปแบบสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยาซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการออกแบบโดยสร้างคร่อมสถานีรถไฟเดิมและมีสถาปัตยกรรมโบราณ ซึ่งกรมศิลปากรมองว่าจะกระทบและคุณค่าประวัติศาสตร์พื้นที่มรดกโลก และคณะกรรมการมรดกโลกให้กลับไปใช้รูปแบบที่เรียบง่ายตามผลการศึกษาเดิม

ทั้งนี้แหล่งข่าวในกรมศิลปากรรายหนึ่ง เปิดเผยต่อ ‘มติชน’ ว่า รายงานEIAของโครงการไม่มีการกล่าวอ้างถึงเขตอุทยานประวัติศาสตร์หรือปรากฏจำนวนแหล่งโบราณสถานไม่ครบถ้วน

ส่วนที่มีข้อมูลปรากฏในโลกออนไลน์ว่า โครงการดังกล่าวห่างออกไป 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเรื่องเขตรัศมีที่ต้องทำการสำรวจ แต่ระยะห่างโบราณสถานจริงที่อยู่ใกล้เคียงห่างออกไปเพียง  60-140เมตรเท่านั้น โดยมีบางแห่งอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนโบราณสถานอีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image