‘คลัง’ ชง ครม.วันนี้-เคาะ 4 โครงการเยียวยาโควิด เปิดลงทะเบียนคนละครึ่ง เฟส 3 อีก 16 ล้านคน

‘คลัง’ ชง ครม.วันนี้-เคาะ 4 โครงการเยียวยาโควิด เปิดลงทะเบียนคนละครึ่ง เฟส 3 อีก 16 ล้านคน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 มิถุนายนนี้ จะเสนอ 4 โครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชน กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นมาตรการเพิ่มกำลังซื้อที่ ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อกำหนดขอบเขตและรายละเอียดสุดท้ายเพื่อให้พร้อมในการดำเนินการได้ทันที ทั้ง 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเติมเงินให้ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.65 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบประมาณ 1.64 หมื่นล้านบาท 2.โครงการเติมเงินให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ที่เป็นผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการเราชนะ รวมทั้งกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย 2.5 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท

น.ส.กุลยากล่าวว่า 3.โครงการคนละครึ่ง ระยะ 3 (เฟส 3) เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง รวมถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย โดยรัฐช่วยจ่ายวันละ 150 บาท ผู้ได้สิทธิจ่ายเอง 150 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการรวมเป็นเงิน 3,000 บาท โดยจะแบ่งเป็นช่วงแรก ไตรมาส 3 ของปีนี้ ทยอยจ่าย 1,500 บาท และไตรมาส 4 อีก 1,500 บาท ครอบคลุมประชาชน 31 ล้านคน

“ที่ผ่านมามีประชาชนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งแล้ว 15 ล้านคน ส่วนโครงการเฟส 3 จะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิอีก 16 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 93,000 ล้านบาท และ 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้ที่มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) โดยจะเปิดลงทะเบียนผ่าน www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ในการรับสิทธิใช้คูปองอิเล็กทรอนิกส์ (อีเวาเชอร์) ไว้ใช้จ่ายค่าสินค้า อาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าบริการ (ไม่รวมลอตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับยานพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน) ในอัตรา 10-15% สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน กลุ่มเป้าหมาย 4 ล้านคน ใช้งบประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท” น.ส.กุลยากล่าว

Advertisement

น.ส.กุลยากล่าวว่า ผลของทั้ง 4 โครงการที่จะออกมาเพิ่มเติม หากรวมกับโครงการที่ออกมาในระยะแรก คือ เพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ 2,000 บาท ใช้งบประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท และโครงการ ม33เรารักกัน เพิ่มวงเงิน 2,000 บาท ใช้งบประมาณกว่า 1.85 หมื่นล้านบาท รวมแล้วจะดูแลประชาชนได้ครอบคลุมกว่า 51 ล้านคน ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 4 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 1% ของจีดีพี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image