สนค.เผยราคาพลังงาน-อาหารสดบางชนิดพุ่งสูง ฉุดเงินเฟ้อ พ.ค. ลงเหลือ 2.44%

สนค.เผยราคาพลังงาน-อาหารสดบางชนิดพุ่งสูง ฉุดเงินเฟ้อ พ.ค. ลงเหลือ 2.44%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.44% แต่ลดลงจากเดือนเมษายน 2564 ที่เติบโตอยู่ที่ 3.41% โดยปัจจัยสำคัญยังคงเป็นการสูงขึ้นของราคาพลังงานที่ขยายตัวสูงถึง 24.79% ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ เนื้อสุกร สัตว์น้ำ (อาหารทะเล) และผลไม้ ปรับตัวสูงขึ้น 0.13% ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้า คำน้ำประปาของรัฐ และการลดลงของราคาอาหารสดบางชนิด อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ และผักสดเป็นปัจจัยที่ชะลอไม่ให้เงินเฟ้อสูงเร็วเกินไป สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดล้องกับผลผลิตและความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสด และพลังงานออกแล้ว ขยายตัวอยู่ที่ 0.49% ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.30% ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2564 ลดลง 0.93% และเฉลี่ย 5 เดือน หรือในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 0.83%

สังเกต​ว่าเงินเฟ้อที่ขยายตัวในเดือนพฤษภา​คม 2564 นอกจากจะมีปัจจัยด้านราคาพลังงานและอาหารสดบางชนิด ซึ่งเป็นปัจจัยด้านอุปทานแล้ว ยังมีปัจจัยด้านอุปสงค์ที่มีสัญญาณแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนให้เกิดการบริโภค อาทิ การปรับตัวสูงขึ้นของการส่งออก ราคาสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกร รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ที่สนับสนุนให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายวิชานัน กล่าวต่อว่า ส่วนดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ การขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลัง การผลิตในหลายสาขาการผลิต สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 5.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 10.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ทั้งนี้ ราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน รวมทั้ง ราคาเหล็ก ยางพารา และคอนกรีต เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตและราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น

Advertisement

ขณะที่ แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยปัจจัยสำคัญยังคงเป็นราคาพลังงานและอาหารสดบางชนิดที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกลไกตลาดในทิศทางปกติ นอกจากนั้น มาตรการของรัฐ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดค่าครองชีพ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อในแต่ละช่วงเวลา

นายวิชานัน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นแรงกดดันและความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อของประเทศ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7-1.7% ค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image