คิดเห็นแชร์ : หลังภัยพิบัติโควิด-19…แนวทาง Dematerialized office ต่อยุทธศาสตร์การฟื้นฟูองค์กรเพื่อเข้าสู่ยุคสำนักงานแห่งอนาคต

คิดเห็นแชร์ : หลังภัยพิบัติโควิด-19...แนวทาง Dematerialized office ต่อยุทธศาสตร์การฟื้นฟูองค์กรเพื่อเข้าสู่ยุคสำนักงานแห่งอนาคต

คิดเห็นแชร์ : หลังภัยพิบัติโควิด-19…แนวทาง Dematerialized office ต่อยุทธศาสตร์การฟื้นฟูองค์กรเพื่อเข้าสู่ยุคสำนักงานแห่งอนาคต

ก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติหนนี้ ภาพชีวิตประจำวันของพนักงานออฟฟิศที่ต้องเร่งรีบตื่นเช้า หลายครอบครัวจำเป็นให้บุตรหลานทานอาหารบนพาหนะเพียงเพื่อเข้าโรงเรียนให้ทันเวลา ตามมาด้วยการผจญฝ่าวิกฤตจราจรที่ติดขัดเพื่อเร่งรีบเข้าออฟฟิศไปให้ทันบันทึกเวลาทำงาน ในช่วงเย็นเหตุการณ์ที่เกิดความยากลำบากในการเดินทางกลับที่พักหลังการใช้แรงกายแรงใจอย่างหนักระหว่างวันก็บั่นทอนพลังในการใช้ชีวิตในวันต่อมา การใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ซ้ำ ๆ ทุกวัน ในช่วงเวลาก่อนวิกฤตโควิดการพูดถึงแนวคิดสำนักงานแห่งอนาคตที่การทำงานผ่านระบบสื่อสารที่ทันสมัยยังเป็นเรื่องของอนาคตที่ไกลตัว บริบทของสังคมที่คุ้นชินในการใช้ชีวิตการทำงานแบบเดิมมาหลายสิบปีนับเป็นเรื่องยากต่อการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวิกฤตโรคระบาดเข้ามาและคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน การใช้ชีวิตการทำงานประจำวันไม่สามารถดำเนินการได้เหมือนเดิม หลายคนเริ่มชิมลางในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อทำงานในข้อจำกัดที่ไม่สามารถมานั่งทำงานร่วมกันได้ โชคร้ายที่หลายคนหลายองค์กรที่ไม่ได้เตรียมพร้อมการพัฒนาทักษะการทำงานก็ไม่สามารถอยู่รอดจนภัยพิบัติผ่านพ้นไปได้ การก้าวผ่านไปสู่ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูจำเป็นจะต้องอยู่บนพื้นฐานยุทธศาสตร์นวัตกรรมแห่งอนาคตและโอกาสทางธุรกิจ ที่จะต้องมีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อภัยพิบัติระดับโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเช่น 5G, AI หรือ Big Data เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวด อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาบนพื้นฐานดิจิทัลเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่จำเป็นจะต้องอยู่ในแผนฟื้นฟูทั้งในระดับประเทศหรือองค์กร แต่เมื่อมองย้อนไปที่ความพร้อมของประเทศไทยในเรื่องนี้จากรายงานของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่มประจำปี 2020 แรงงานไทยที่มีความพร้อมด้านทักษะดิจิทัลมีเพียง 54.9% เป็นอันดับที่ 89 จาก 140 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศโดยการจัดอันดับของ IMD World Digital Skill ทั้งนี้จุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทยอยู่ที่การพัฒนาทักษะและการศึกษาที่เกี่ยวกับดิจิทัล รวมทั้งมุมมองของแรงงานที่อยากปรับเปลี่ยนทักษะเพื่อรองรับการทำงานในโลกอนาคตที่มีค่อนข้างต่ำ

การตั้งยุทธศาสตร์ฟื้นฟูในระดับองค์กรก็มีความสำคัญที่จำเป็นจะต้องรองรับบริบทดิจิทัลให้ได้ จากรายงานของบริษัทอิริคสันในเดือนกรกฎาคม 2020 ในการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพนักงานบริษัทจำนวน 7,842 ราย จากมากกว่า16 ประเทศทั่วโลก โดยสัดส่วนผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการเป็นอย่างละครึ่ง ซึ่งสามารถสะท้อนความคิดเห็นกลุ่มพนักงานบริษัทจำนวน 133 ล้านรายจากจำนวนพนักงาน 300 ล้านราย ของประเทศที่ทำการสำรวจ ผลปรากฏ 77% เห็นว่าการนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ล้ำสมัยมาใช้ในสำนักงานจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนของบริษัท โดยในกลุ่มนี้มากกว่าครึ่งคิดว่าควรมีการนำเอาเทคโนโลยี VR มาใช้ในการติดต่อระหว่างเพื่อนพนักงาน, ลูกค้า รวมถึงพันธมิตรคู่ค้าต่างๆ จะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสำนักงานแห่งอนาคต และบริษัทจำเป็นต้องสร้างการทำงานในรูปแบบเสมือน (Virtual Workplace) เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นได้ นอกจากนี้การปรับเข้าสู่การทำงานในสภาวะดิจิทัลจะสอดคล้องกับบริบทของโลกที่ต้องการลดภาระโลกร้อนไปพร้อมกันด้วย และอาจนำไปสู่แหล่งรายได้ใหม่ในการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้

Advertisement

บทสรุปเรื่องนี้แนวทางการฟื้นฟูองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการประหยัดทรัพยากร (Dematerialized Office) โดยมีคำจัดกัดความหมายถึงบริบทการทำงานที่มีความต้องการพื้นที่สำนักงานน้อยลงรวมทั้งลดเวลาการเดินทางเพื่อเข้ามาทำงาน โดยทั้งนี้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นหลักในการพัฒนาการยอมรับรูปแบบการทำงานทั้งแบบ Work from Home หรือ Work from Anywhere จะคงอยู่แม้กระทั่งผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมาทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างเห็นผลประโยชน์ร่วมกันในรูปแบบการทำงานแบบนี้

ทั้งนี้ เทคโนโลยี XR และ 5G จะเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่องค์กรจะต้องนำมาใช้ในการฟื้นฟูองค์กรให้ไปในทิศทางของการประหยัดทรัพยากร (Dematerialization) การคำนึงถึงการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในทุกกระบวนการทำงาน, การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในรูปแบบเสมือน, การสร้างการพบปะ (Interactive) กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ต้องไม่ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา, รวมถึงออกแบบธุรกิจเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าหรือบริการในรูปแบบดิจิทัลทางเลือกใหม่ และสุดท้ายการยกระดับทักษะหรือสร้างทักษะของพนักงานที่จะต้องสองคล้องไปในแนวทาง Dematerialized Office เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องบรรจุในแผนฟื้นฟูที่ต้องมีแผนงานและกำหนดเวลาที่ชัดเจน

ดร.เจษฎา ศิวรักษ์
หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัทอิริคสันประเทศไทย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image