กรมปศุสัตว์ เปิดแผนกระจายวัคซีน ลัมปี สกิน เตรียมรับอีก 3 แสนโดส หนุนเอกชนนำเข้า

กรมปศุสัตว์ เผยแนวทางจัดสรรวัคซีนโรคลัมปี สกิน พร้อมหนุนเอกชนให้นำเข้า

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุมพระพิรุณ กรมปศุสัตว์ โดยได้เน้นย้ำกำหนดหลักเกณฑ์ส่งมอบวัคซีน และกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนตามหลักวิชาการ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ล็อตแรก จำนวน 60,000 โดส และ 300,000 โดส ที่จะมาในสัปดาห์หน้า พร้อมหนุนเอกชนให้นำเข้า

ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบในโค กระบือ และสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่นๆ เพื่อให้การเฝ้าระวัง ควบคุม และกำจัดโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และทำให้ประเทศไทยปลอดจากโรคดังกล่าวนี้ให้เร็วที่สุด

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์และรับทราบอย่างต่อเนื่องปัจจุบันการระบาดของโรคลัมปี สกิน ยังพบในพื้นที่จังหวัดเดิม ยังไม่มีการแพร่กระจายไปจังหวัดอื่นๆ โดยมีรายงานการเกิดโรคแล้ว 41 จังหวัด สัตว์ป่วยจำนวน 22,112 ตัว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการตรวจยืนยันสัตว์ป่วย และรักษาสัตว์ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

“คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนควบคุมโรคและพื้นที่การฉีดวัคซีนสำหรับวัคซีนรอบที่ 1 (60,000 โดส) ซึ่งกำหนดให้ฉีดวัคซีนในพื้นที่รัศมี 5-50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค โดยกรมปศุสัตว์คัดเลือกพื้นที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม รวม 9 จังหวัด

Advertisement

กลุ่มที่ 1 คือ จังหวัดที่มีการเกิดโรคใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ที่สัตว์ยังไม่มีการติดเชื้อในช่วงระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 64 ประกอบด้วย 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดพะเยา ส่วนพื้นที่ใน

กลุ่มที่ 2 คือ จังหวัดที่มีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค.64 ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ หนองคาย พิษณุโลก สกลนคร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ โดยเลือกอำเภอที่เกิดโรคใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นอำเภอที่ฉีดวัคซีน”

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่อไปว่า มีหลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่ตำบลในอำเภอที่ได้คัดเลือกแล้ว ดังนี้  1) ต้องเป็นตำบลที่ไม่มีการเกิดโรค 2) ไม่มีการเคลื่อนย้ายเข้าในพื้นที่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

Advertisement

โดยพิจารณาฉีดวัคซีนในสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย รวมทั้งต้องทำเครื่องหมายที่ตัวสัตว์ โดยการตีตราเย็นเป็นสัญลักษณ์ “x” บนไหล่ซ้าย ทั้งนี้ ร่วมกับมาตรการควบคุมแมลงพาหะ งดการเคลื่อนย้ายโคกระบือออกจากพื้นที่ตำบลนั้น และตรวจสุขภาพ สังเกตอาการของสัตว์ทุกวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน หลังจากฉีดวัคซีน

“สำหรับวัคซีนในรอบที่ 2 (300,000 โดส) มีกำหนดจะจัดส่งถึงประเทศไทยในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์การใช้ในลักษณะเดียวกันกับการฉีดวัคซีนในรอบแรก พร้อมอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ หรือจากภาคเอกชน นำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน มาใช้ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์”

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯได้มีมติว่า โรคลัมปี สกิน เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และมีการควบคุมโรคโดยการฉีดวัคซีนที่นำเข้าจากต่างประเทศ  การกำหนดแผนการฉีดวัคซีนต้องเป็นไปตามระเบียบกรมกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการฉีดวัคซีนลัมปี สกิน ในสัตว์ชนิดโค กระบือ พ.ศ.2564 เพื่อให้เป็นแบบแผนเดียวกัน มีความปลอดภัยต่อสัตว์และเป็นไปตามหลักวิชาการ การดำเนินการในระยะต่อไป จะมีการประเมินความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนในพื้นที่ ประเมินประสิทธิภาพความคุ้มโรคหลังจากการฉีดวัคซีน โดยใช้หลักการทางระบาดวิทยาในสุ่มเก็บตัวอย่าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการผลิตวัคซีนในประเทศต่อไป

“ขอให้พี่น้องเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพของโค-กระบือ ให้มีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด หรือปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 06-3225-6888 หรือทางแอพพลิเคชั่น DLD4.0 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการ” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image