สมาคมภัตตาคารไทย ยื่นหนังสือ รมต.คลัง ขอเพิ่มการช่วยเหลือร้านอาหาร

สมาคมภัตตาคารไทย ยื่นหนังสือ รมต.คลัง ขอเพิ่มการช่วยเหลือร้านอาหาร

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ยื่นหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอเพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจากปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปี 2563 ส่งผลให้ภาครัฐโดย ศบค.ต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อป้องกันสวัสดิภาพของประชาชนในประเทศ เช่น มาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลให้สถานประกอบการต่างๆ ต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว ร้านอาหารก็เป็นหนึ่งในประเภทกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันวิด-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียด้านรายได้อย่างมาก

โดยตัวเลขผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง-ใหญ่ (200 ตรม.ขึ้นไป) มีจำนวน 150,000 ราย และไมโครเอสเอ็มอีหรือ street food อีก 400,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 15,000 ราย ที่เหลือเป็นประเภทบุคคลธรรมดา ธุรกิจร้านอาหารทำรายได้ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาทมาโดยตลอด และเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ทั้งเป็นแหล่งจ้างงาน เป็นซัพพลายเชนเชื่อมโยงไปยังผู้ผลิต ผู้ให้บริการประเภทต่างๆ
​แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนไม่น้อยต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจนหลายรายต้องปิดกิจการถาวรจากวิกฤตโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่มีเงินทุนหมุนเวียนจำกัด และมีเงินทุนสำรองไม่เพียงพอในการประคับประคองธุรกิจในสภาวะวิกฤตที่ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อนเช่นนี้ที่กินเวลานานกว่า 1 ปีมาแล้ว เนื่องจากปกติแล้วธุรกิจร้านอาหารจะมีกระแสเงินสดหมุนเวียนเป็นประจำ

ดังนั้น เมื่อรายได้ลดลงจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ ทำให้หลายร้านประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องกอปรกับที่ผ่านมาร้านอาหารขนาดกลาง และเล็ก เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ ด้วยติดเงื่อนไขข้อจำกัดของธนาคาร แม้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือด้วยการให้กู้เงินผ่านธนาคารออมสิน รายละ 10,000 บาทในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแต่ก็เป็นจำนวนไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนของกิจการร้านอาหาร และแม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่ง เราชนะ ม33 ซึ่งได้ช่วยให้เกิดการหมุนเวียน สร้างรายได้ขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายประจำวันต่างๆ ที่ร้านอาหารต้องแบกรับ ทำให้หลายร้านไม่สามารถแบกภาระต่อไปได้ ก่อให้เกิดปัญหาเลิกจ้างงาน ห่วงโซ่ซัพพลายเชนหยุดลงส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยเฉพาะด้านการเกษตร เกิดภาระหนี้สินครบครัว เกิดNPLกับสถาบันการเงินต่างๆ เกิดปัญหาสังคมตามมา

ปัญหาที่ผ่านมาของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางและเล็กที่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินของรัฐมาจากสาเหตุหลักๆ ดังนี้ 1.ติดเครดิตบูโร หรือติดเงื่อนไขประวัติหนี้เสีย เช่น เข้าโครงการพักชำระหนี้สถาบันการเงินถือว่าประวัติเสีย 2.สเตตเมนต์ไม่เข้าเงื่อนไขขอสินเชื่อ เนื่องจากบ้างร้านต้องหยุดกิจการทำให้การเดินบัญชีไม่มี 3.หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่มีทำให้เข้าถึงเงินหลักล้านยาก (ซึ่งส่วนนี้มี บสย.ช่วยค้ำประกันตลอดที่ผ่านมา) 4.สถาบันการเงินมักจะพิจารณาลูกค้าตัวเองเป็นหลัก และเป็นลูกค้าชั้นดี ซึ่งมีศักยภาพในการประคับประคองกิจการอยู่แล้ว

Advertisement

ทั้งนี้ ทราบว่ารัฐบาลมี softloan เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่ 2 ส่วนคือจาก ธ.ออมสิน 10,000 ล้านบาท และจาก SME Bank 2 โครงการคือ LEL และ extra cash ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินเหลือ ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารไม่สามารถเข้าถึงวงเงินสินเชื่อทั้ง 2 ส่วนนี้ได้ แม้ว่าในวันที่ 7-20 มิถุนายนนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการทำการจับคู่ระหว่างสถาบันการเงินกับผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของสถาบันการเงินก็เชื่อว่าจะเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงอีกเช่นกัน จึงมีข้อเสนอขอความอนุเคราะห์มายังท่าน เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางและเล็กเป็นการเฉพาะให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือมาตรการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ ดังนี้

ข้อ 1. ออกมาตรการพักชำระต้น-ดอก ธนาคารและไฟแนนซ์ ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแก่ธนาคารแทนผู้ประกอบการ

ข้อ 2. วงเงินเดิมที่ธนาคารของรัฐยังคงมีเหลือ ขอให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการขอกู้ต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความเป็นจริงภายใต้วิกฤตโควิด-19 ให้เอื้อต่อการเข้าถึงผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางและเล็กทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยวัตถุประสงค์การกู้เพื่อ

ข้อ 2.1 ขอวงเงินกู้ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำของกิจการช่วง 6-12 เดือนถัดจากนี้ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่อน 3-5 ปี ใช้ บสย.ค้ำประกันโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์จำนอง

ข้อ 2.2 ให้ใช้ฐานการเสียภาษีตามแบบแสดงรายได้ ภงด.90 สำหรับผู้ประกอบการแบบบุคคล และ ภงด.50 สำหรับนิติบุคคลในการพิจารณาปล่อยกู้สินเชื้อดอกเบี้ยต่ำ 30% ของรายได้ในปี 2562 ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง

ข้อ 3. ขอแบ่งวงเงินตามมาตรการพักทรัพย์พักหนี้จำนวน 2 หมื่นล้าน ให้สิทธิกับผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีสถานประกอบการเป็นของตัวเอง ซึ่งติดจำนองกับธนาคารได้แก้ปัญหาหนี้สินและเช่าทำธุรกิจต่อ 5 ปี ซึ่งร้านอาหารจะมีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าธุรกิจประเภทอื่น

ข้อ 4. จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสนับสนุนกิจการร้านอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเช่นนี้ในอนาคตอีก โดยกองทุนนี้มีภาระกิจหลักคือการฟื้นฟู และสนับสนุนกิจการร้านอาหารให้ดำเนินกิจการต่อไปในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ เช่น เป็นแหล่งเงินทุนสำรองค่าใช้จ่าย fix cost ต่างๆ เพื่อให้ร้านอาหารยังคงเปิดต่อไปได้ มีการจ้างงาน มีการใช้จ่ายเชื่อมโยงไปยังซัพพลายเชนต่างๆ ลดภาระของภาครัฐลงได้

หากกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ตามนี้ จะเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจร้านอาหาร ต่อลมหายใจการจ้างงาน ส่งต่อกระแสเงินหมุนเวียนไปยังภาคการเกษตร ภาคบริการ และชุมชน ตามมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image