สินเชื่อเอสเอ็มอี เกาไม่ถูกที่คัน ระบมพิษโควิดกว่าปี…ยาถอนยังแค่จ่อๆ

สินเชื่อเอสเอ็มอี เกาไม่ถูกที่คัน ระบมพิษโควิดกว่าปี...ยาถอนยังแค่จ่อๆ

สินเชื่อเอสเอ็มอี เกาไม่ถูกที่คัน ระบมพิษโควิดกว่าปี…ยาถอนยังแค่จ่อๆ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่มา 1 ปีกว่าๆ แล้ว หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ว่าจะต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ไปอีก 2-3 ปี จนกว่าจะฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลของผู้ประกอบกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ไม่ได้มีทุนหรือสภาพคล่องมากเพียงพอเพื่อต่อลมหายใจธุรกิจได้ยาวๆ ภาครัฐเองก็ได้พยายามที่จะออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่การออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท จนมาถึง พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้ 3.5 แสนล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้

⦁รายละเอียดมาตรการตัวใหม่
1.มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สำหรับธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูได้สูงสุด 30% ของวงเงินเดิม สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท (นับรวมกับวงเงินกู้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน เดิมที่เคยได้รับ) และลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใดสามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท โดยนับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน ในช่วง 5 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี โดยช่วง 2 ปีแรก คิด 2% ต่อปี อีกทั้งยังได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรกจากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อทุกราย คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกิน 1.75% ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้บางส่วน

2.มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งได้รับผลกระทบและต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัวด้วยการโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันชำระหนี้ให้กับธนาคารตามราคาที่ตกลงกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อไปประกอบธุรกิจได้ตามอัตราค่าเช่าที่ตกลงกัน และให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการซื้อทรัพย์คืนภายใน 3-5 ปี

Advertisement

ผลการอนุมัติสินเชื่อล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ยอดการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มีทั้งสิ้น 20,839 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 8,218 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อเฉลี่ย 2.5 ล้านบาทต่อราย โดยวงเงินสินเชื่อกระจายลงไปยัง ธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 42.7% ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ 44.1% และธุรกิจรายย่อยอยู่ที่ 12.1% แต่หากแบ่งตามจำนวนผู้กู้ ธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 5.5% ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ 34.7% และธุรกิจรายย่อยอยู่ที่ 58.7% ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับโอน 909.68 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 4 ราย

⦁สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้
แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการต่างๆ ว่ายังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมีการหารือใหม่กับสมาคมธนาคารไทย ผลการหารือเบื้องต้นคือ ทางสมาคมร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยรวบรวมรายชื่อข้อมูลของผู้ประกอบการที่สนใจขอสินเชื่อฟื้นฟูและหาแนวทางข้อสรุปในการช่วยเหลือแต่ละราย ซึ่งทางสมาคมจะส่งต่อให้กับธนาคารสมาชิก โดยขณะนี้ธนาคารต่างๆ กำลังเร่งพิจารณาคำขออนุมัติสินเชื่อที่สามารถเข้าร่วมมาตรการการสินเชื่อฟื้นฟูได้ คาดว่าภายใน 6 เดือน จะอนุมัติสินเชื่อได้ 1 แสนล้านบาท

แต่ในอีกวิธีการหนึ่ง สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เป็นผู้สนับสนุนการทำ ดิจิทัล แฟคตอริ่ง แพลตฟอร์ม (Digital Factoring Platform) เพื่อให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือคู่ค้าพันธมิตรของห้างสรรพสินค้า ได้เข้าถึงสินเชื่อแฟคตอริ่งของสถาบันการเงินต่างๆ ได้ง่าย สะดวก รวดเร็วมากขึ้น แต่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้มีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ

Advertisement

สำหรับ “แฟคตอริ่ง” หรือการรับซื้อหนี้การค้าเป็นสินเชื่อระยะสั้นที่สามารถเปลี่ยนบิล หรือเอกสารทางการค้าเช่น ใบสั่งซื้อ ใบแจ้งหนี้ค้างชำระ ใบวางบิล หรือใบตรวจรับพัสดุ ที่มีอยู่ในมือ ให้เป็นเงินสดเพื่อใช้หมุนเวียน นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสด โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันในการขอสินเชื่อ ซึ่งในแพลตฟอร์มนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่จะทำหน้าที่เสมือนหลักค้ำประกันให้กับผู้ค้ารายย่อยของตน ซึ่งมีข้อมูลทางการค้าร่วมกันอยู่แล้ว

⦁เสียงสะท้อนจากเอสเอ็มอี
พรชัย รัตนตรัยภพ ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า เป็นวิธีการที่ดีที่ทางห้างสรรพสินค้าเป็นคนช่วยทำแฟคตอริ่งให้กับผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้ากับห้าง แต่ว่าจะช่วยให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น โรงงานที่มีการรับรอง GMP ไม่ใช่รายย่อยทั่วๆ ไป อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้ทางสถาบันการเงินอื่นๆ พิจารณาบริษัทคู่ค้าที่มีเครดิตดีด้วย นอกเหนือไปจากบริษัทที่ทำกับห้างค้าปลีก เพราะยังไม่ครอบคลุมกับธุรกิจเอสเอ็มอีในภาคส่วนอื่นๆ อีก อยากเสนอให้คิดอัตราดอกเบี้ยแฟคตอริ่งอยู่ที่ 0.5% ต่อปี จากปกติที่คิดมากกว่า 10% ต่อปี ซึ่งภาครัฐจะต้องมาสนับสนุนตรงนี้ด้วย จะสามารถช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจรายย่อย ได้จำนวนมาก

พรชัยกล่าวว่า แม้ว่าสถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการออกสินเชื่อเพื่อช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู แต่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงพิจารณาสินเชื่อด้วยความระมัดระวังอย่างสูง คือ 1.ผลการดำเนินงานของกิจการต้องไม่ขาดทุน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ขาดทุนไปจำนวนมาก 2.ต้องมีหลักประกัน แม้ว่าจะมี บสย.เข้ามาช่วยแล้ว แต่ติดเรื่องการขาดทุนของกิจการ 3.เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พอธุรกิจไม่ได้มีการชำระหนี้ ก็จะถูกจัดชั้นหนี้ไว้อยู่ตรงนี้ เพราะไม่ได้มีการพูดคุยกับทางสถาบันการเงินเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือพักชำระหนี้ไว้ก่อน พอจะกลับมากู้เงินใหม่ก็ไม่สามารถทำได้แล้ว จึงอยากให้มีการปลดล็อกกฎเหล็กต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเดินหน้าต่อไปได้

“แม้ว่าตอนนี้จะมีการออกข่าวช่วยเหลือลูกหนี้ต่างๆ เผยแพร่ไปแล้ว แต่ทางสถาบันการเงินยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ต้องรอขั้นต่ำอย่างน้อย 1 เดือนหลังจากที่ข่าวออกไป ถ้าจะให้ดีกว่านี้คือวันที่ประกาศข่าวคือต้องมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้เลย จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” พรชัยกล่าว

ด้าน วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จะมีการนัดพูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้ เรื่องการพักชำระหนี้ ซอฟต์โลน เสนอหาทางออกของทั้ง 2 ฝ่าย โดยออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้และทางสถาบันการเงินสบายใจที่จะปล่อยสินเชื่อได้

แม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีออกมามากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกรายจะเข้าถึงสินเชื่อ ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ ทางด้านหลักประกันสินเชื่อ ให้ทางสถาบันการเงินผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น หรือการสนับสนุนเงินทุนโดยตรง ไม่หวังผลกำไรหรือขาดทุน เพื่อช่วยไม่ให้ธุรกิจเอสเอ็มอีล้มหายตายจากไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image