‘จุรินทร์’ กดปุ่มโครงการจับคู่กู้เงิน ต่อสายป่านร้านอาหารทั่ว ปท. คาด 6 พันรายเข้าถึงซอฟต์โลน

‘จุรินทร์’ กดปุ่มโครงการจับคู่กู้เงิน ต่อสายป่านร้านอาหารทั่ว ปท. คาด 6 พันรายเข้าถึงซอฟต์โลน

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเปิดงานโครงการ “จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร” ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะผู้บริหาร สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ร่วมงาน ว่าโครงการเกิดขึ้น เพราะอยากเห็นธุรกิจบริการมีคนช่วยมาทำหน้าที่เจ้าภาพเฉพาะกิจช่วยดูแล สำหรับภาคบริการคือร้านอาหาร

ทั้งนี้ ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ มีส่วนการดำเนินการเพื่อต่อลมหายใจให้กับร้านอาหารแล้ว ผ่านโครงการพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชน Lot ที่ 11 โดยนำผู้ประกอบการ 5 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย Robinhood Gojek LINEMAN Grab และ foodpanda กำหนดมาตรการช่วยร้านอาหารและผู้บริโภคที่ซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มดิลิเวอรี 3 เรื่อง 1.ลดค่าเรียกเก็บจากการบริการ (GP) จากอัตรา 30-35% เหลือ 25% เพื่อช่วยร้านอาหารให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 2.ลดราคาสินค้าอาหารให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการดิลิเวอรี สูงสุดถึง 60% และ 3.ลดค่าส่งอาหารให้กับผู้บริโภคจาก 3-5 กิโลเมตรแรก ลดจาก 40 บาทเหลือศูนย์บาท ยกเว้น LINEMAN

“วันนี้ถือว่าเป็นการต่อสายป่านให้กับร้านอาหารภาค 2 ที่ส่วนหนึ่งอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องเงินทุนหรือผ่อนปรนภาระหนี้สินที่มีอยู่ รวมทั้งหาแหล่งเงินกู้ ที่กำลังมีผู้ประกอบการอีกมาก เดือดร้อน” นายจุรินทร์กล่าว

Advertisement

นายจุรินทร์กล่าวว่า โครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร โดยเชิญสถาบันการเงิน 5 แห่ง มาทำหน้าที่ปล่อยกู้โดยเฉพาะ โดยผ่อนปรนให้มากที่สุด ประกอบด้วย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME D Bank) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ส่วนร้านอาหารประสานงานผ่าน 7 สมาคม 1.สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด 2.สมาคมภัตตาคารไทย 3.สมาคมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย 4.สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร 5.สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร 6.สมาคมเชียงใหม่ภัตตาคารร้านอาหารและบันเทิง และ 7.สมาคมร้านอาหารไทยจังหวัดกระบี่ รวมทั้งกลุ่มร้านอาหารอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศ

โดยร้านอาหารทั่วทั้งประเทศที่อยู่ในระบบทะเบียนประมาณ 120,000 ราย เป็นนิติบุคคลประมาณ 16,000 ราย ที่เหลือจดทะเบียนทำธุรกิจในฐานะบุคคลธรรมดา โดย 120,000 ราย จะสามารถเข้ามาร่วมโครงการเจรจากับสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง ได้ทั้งในส่วนกลางส่วนภูมิภาค

Advertisement

นายจุรินทร์กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยให้ร้านอาหารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือเข้าถึงสถาบันการเงินโดยมีดอกเบี้ยราคาพิเศษและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี และเงื่อนไขผ่อนปรนอื่นๆ เพื่อให้โครงการนี้สามารถช่วยร้านอาหารได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะรัฐบาลมีวงเงินให้สถาบันการเงินเหล่านี้ในการปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจบริการรวมทั้งเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี และโครงการเริ่มตั้งแต่ 7 -20 มิถุนายน 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดอบรมโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ความรู้กับสถาบันการเงินร่วมกับร้านอาหารที่สนใจใช้บริการสถาบันการเงินในการเตรียมตัวก่อนดำเนินการกู้เงินในวันนี้ โดยมีผู้เข้าชมกว่า 6,000 คน และมีการแชร์ออกไปอีกเป็นจำนวนมากไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image