‘ตลท.’ หนุน ‘ส.อ.ท.’ ดึงบริษัทยักษ์ 100 อันดับแรก รับซื้อหนี้การค้าดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

‘ตลท.’ หนุน ‘ส.อ.ท.’ ดึงบริษัทยักษ์ 100 อันดับแรก รับซื้อหนี้การค้าดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผ่านการให้บริษัทขนาดใหญ่ 100 อันดับแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าทำโครงการแฟคตอริ่ง หรือการรับซื้อหนี้การค้าเป็นสินเชื่อระยะสั้น ที่สามารถเปลี่ยนบิล หรือเอกสารทางการค้า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจนั้น เบื้องต้นถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี และพร้อมสนับสนุน เนื่องจากสิ่งที่กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นเรื่องสภาพคล่อง โดยเฉพาะในช่วงการที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ หรือจำหน่ายสินค้าได้น้อยลง ทำให้เงินทุนที่กิจการใช้หมุนเวียนเพื่อดำเนินกิจการหายไป ทำให้ธนาคารพาณิชย์อาจปรับลดวงเงินสินเชื่อลง เมื่อไม่เห็นกิจกรรมทางการเงินเหล่านี้ สิ่งที่จะทำได้คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นแวลูเชนและซัพพลายเชน หากเป็นเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจร่วมกับบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจสามารถลดเวลารอการได้รับเงินชำระสินค้า และสามารถนำใบเสร็จรับเงินมาทำเป็นการรับซื้อหนี้การค้าเป็นสินเชื่อระยะสั้น ซึ่งทำได้ทั้งบริษัทคู่ค้าลดเวลาในการรอรับเงินชำระค่าสินค้า และให้บริษัทเอสเอ็มอีสามารถนำใบเสร็จรับเงินมาขายเป็นส่วนลดได้

“ภาวะการลงทุนในขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยทั้งของพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารพาณิชย์ อยู่ในระดับที่ต่ำมาก ทำให้หากมีทางเลือกในการลงทุนผ่านการนำใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง นำมาขายเป็นส่วนลด และเมื่อถือครบตามเวลาที่กำหนดแล้ว สามารถได้รับเงินคืนจากบริษัทขนาดใหญ่ เพียงแค่เปลี่ยนจากการต้องจ่ายให้กับบริษัทเอสเอ็มอี มาจ่ายให้ก้บผู้ลงทุนแทน ซึ่งส่วนนี้มีความน่าสนใจมาก ขณะเดียวกันตลท.เองก็มีการจัดทำกระดานหุ้นที่ 3 หรือกระดานซื้อขายหุ้นเอสเอ็มอีขึ้น ซึ่งความคืบหน้าในขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับเงื่อนไขให้เป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะสามารถจัดทำระบบส่วนกลางและฝึกหัดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้งานได้ ส่วนกลางปี 2565 คาดว่าจะสามารถเปิดการซื้อขาย เพื่อระดมทุนใหม่ในการสร้างกิจการได้” นายภากร กล่าว

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,593.59 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปี 2563 ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 109,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 5 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,859 ล้านบาท ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 34,054 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 66,870 ล้านบาท ถือเป็นการขายสุทธิ 5 เดือนต่อเนื่อง ส่วนผู้ลงทุนในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 101,236  ล้านบาท โดยนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดอย่างต่อเนื่อง

นายศรพล กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่าภาพรวมตลาดเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยในเดือนพฤษภาคม มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 3 บริษัท และใน mai 3 บริษัท ซึ่งใน 5 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าระดมทุน (ไอพีโอ) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียน สาเหตุหลักมาจากการเข้าจดทะเบียนของบมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และ บมจ. เงินติดล้อ (TIDLOR)

Advertisement

“แนวโน้มครึ่งหลังปีนี้ สิ่งที่ต้องติดตามคือ 1.เศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวยั่งยืนได้มากน้อยเท่าใด โดยต้องมองมาตรการกระตุ้นของประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐ หากสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีจะลดความเสี่ยงระยะสั้นได้ 2.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ 3.การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (อีเอสจี)” นายศรพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image