5 เอกชนท่องเที่ยวผนึกกำลังอ้อนรัฐหามาตรการอุ้มธุรกิจ หลังโควิดอยู่ยาว จี้ฉีด-กระจายวัคซีนก่อน

5 เอกชนท่องเที่ยวผนึกกำลังอ้อนรัฐหามาตรการอุ้มธุรกิจ หลังโควิดอยู่ยาว จี้ฉีด-กระจายวัคซีนก่อน

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการ ท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนในภาคการท่องเที่ยว 5 สมาคม ได้แก่ 1.สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว 2.สมาคมโรงแรมไทย 3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ 4.สมาคมสปาไทย และ 5.สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย สำรวจปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือ เยียวยาธุรกิจ จัดทำรายละเอียดและหารือร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมี 3 ข้อเสนอหลัก คือ 1.การกระจายวัคซีนและเร่งฉีดให้จังหวัดท่องเที่ยว โดยจัดสรรวัคซีนให้คนในพื้นที่รวมประชากรแฝง และชาวต่างชาติ 70% ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเปิดรับนักท่องเที่ยวให้ได้เร็วที่สุด โดยเร่งฉีดให้แก่บุคลากรท่องเที่ยว จำนวน 550,000 คน หรือจำนวนวัคซีน 1,100,000 โดส 2.การจัดงานประชุมในพื้นที่สีแดงเข้ม โดยขอให้รัฐบาลอนุญาตให้จัดงานประชุมในโรงแรม ผ่านการกำหนดจำนวนผู้ร่วมประชุมตามขนาดของห้อง เว้นระยะห่าง 2 เมตรต่อคน และอนุญาตให้บริษัทท่องเที่ยวและบริษัทรถจัดกรุ๊ปประชุมสัมมนาได้ เพื่อให้เกิดการระจายรายได้ไปในส่วนอื่นๆ เนื่องจากเมื่อบริษัททัวร์เป็นผู้จัดสัมมนา จะมีการจองโรงแรม ใช้บริการรถเช่า และอาหารหลักหรืออาหารว่าง แตกต่างจากในปัจจุบันที่หน่วยงานภาครัฐจัดงานสัมมนาเอง ซึ่งจะกระจายเม็ดเงินได้น้อยกว่า และ 3.เรื่องการลดเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นตลาด โดยไม่กักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง, ขยายประเภทของวัคซีน เป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากประเทศต้นทาง, ลดวงเงินประกันการเดินทางจาก 100,000 เหรียญสหรัฐ ลงเหลือ 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือลดวงเงินสำหรับนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวด้วย

นายศิษฎิวัชร กล่าวว่า รวมถึงต้องการให้ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยพิจารณามาตรการการบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) โดยขอส่วนลดค่าไฟฟ้า 15% ตามใบแจ้งค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564 พร้อมขอยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด ขอจ่ายตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง และยกเลิกการคิดค่าไฟในอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ TOU Tariff on Peak เวลา 09.00-22.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ ตามใบแจ้งค่าไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 7 เดือน รวมถึงขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระเงินค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง เป็นระยะเวลา 7 เดือน โดยแบ่งชำระเป็นงวดและไม่เรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนมาตรการทางภาษี ที่ต้องการให้ช่วยเหลือคือ ประเมินในช่วงฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2565-2566ขอให้พิจารณาขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิ จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปี เป็น 10 ปี ซึ่งบางประเทศในทวีปยุโรปถึงขั้นมีการพิจารณาอนุญาตให้สามารถนำผลขาดทุนไปใช้หักล้างในอนาคตได้แบบไม่จำกัดจำนวนปี อาทิ เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก รวมถึงขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ต่อไปอีก 2 ปี ตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.2563 ในราชกิจจานุเบกษา ที่เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 เพิ่มอีก 2 ปี และลดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งจะถือเป็นการให้ส่วนลดกับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงการของดการจ่ายค่าธรรมเนียมภาษีบำรุงท้องที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นระยะเวลา 2 ปี

“การกระตุ้นเที่ยวในประเทศ อยากให้ส่งเสริมตลาดคนไทยที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเข้าภูเก็ต เพื่อให้เกิดการเดินทางมากขึ้น และขอให้ส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐจัดประชุมข้ามภาคผ่านบริษัทนำเที่ยว ส่วนบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว ได้แก่ ค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม ในปี 2564-2565 หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาทในแต่ละปี โดยกำหนดให้โรงแรมที่พักจะต้องจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมจากการรอให้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย เริ่มดำเนินโครงการ” นายศิษฎิวัชร กล่าว

ทั้งนี้ หากเจาะเฉพาะมาตรการพยุงผู้ประกอบการรถขนส่ง ได้ขอให้รัฐช่วยจัดโครงการเยี่ยมชมจังหวัดใกล้เคียงแบบคนละครึ่ง ผ่านการให้รัฐจ่ายให้ 50% ผู้เดินทางจ่ายอีก 50% จำนวน 40,000 เที่ยวต่อวัน ค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวต่อวัน 16,000 บาท หรือคิดเป็นรัฐช่วยสนับสนุน 8,000 บาท และนักท่องเที่ยวจ่าย 8,000 บาท รวมเป็นงบประมาณ 320 ล้านบาท ผ่านสมาคมต่างๆ เพื่อความเป็นธรรม และโปร่งใสในการเดินทาง สามารถตรวจสอบได้ด้วยระบบจีพีเอส ทั้งยังขออนุญาตให้มีการจับคู่เที่ยวระหว่างเมืองหรือระหว่างจังหวัดที่ไม่มีการระบาดโควิด-19 ได้ รวมถึงการของบประมาณในการซ่อมแซมบูรณะรถทัวร์นำเที่ยว ให้กลับมาให้บริการด้วยความปลอดภัย ซึ่งใช้วงเงินประมาณ 300,000 บาทต่อคัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image