คิดเห็นแชร์ : เขื่อนผามอง 1 : จุดกำเนิดการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขง

ต่อจากฉบับที่แล้วที่ผมเล่า เกี่ยวกับจุดกำเนิดการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขงไปแล้ว ฉบับนี้ผมจะพาทุกท่านมาล่องแม่น้ำโขงเพื่อศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โครงการผามอง หรือเขื่อนผามอง ถึงแม้ว่าจะเป็นโครงการที่ไม่ได้ดำเนินการต่อ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาในหลายๆ เรื่องซึ่งนำไปสู่การต่อยอดในการพัฒนาในประเทศไทย ยังไงมาดูกันครับ

เขื่อนผามอง เป็นโครงการที่คุณพ่อผม (ดร.ประเทศ สูตะบุตร) ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเป็นงานแรกจาก ศ.ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ เลขาธิการการพลังงานแห่งชาติในขณะนั้น ตั้งแต่กลับมาจากการศึกษาในระดับปริญญาเอกเมื่อปี พ.ศ.2510 โครงการผามองนี้เป็นโครงการอยู่ห่างจากนครเวียงจันทน์ไปทางต้นน้ำแม่น้ำโขง ประมาณ 20 กิโลเมตร ในฝั่งไทยจะอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย ซึ่งถือเป็นโครงการแรกสุดที่อยู่ในแผนการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง (ตอนล่าง) ซึ่งมีโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขงเป็นโครงการหลักในสมัยนั้น โดยในยุคนั้นการพลังงานแห่งชาติ หรือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ปัจจุบัน ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง (หรือ Mekong Secretariat ในปัจจุบัน) ได้เริ่มการสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2519

รายงานผลการศึกษาของโครงการเขื่อนผามอง เมื่อปี พ.ศ.2517 ได้สรุปข้อมูลที่สำคัญ ไว้ดังนี้ คือ เขื่อนผามอง สามารถจะผันน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนส่วนหนึ่งประมาณ 20,000 ล้าน ลบ.ม. ไปหล่อเลี้ยงภาคอีสานได้ทั่วทั้งภาค โดยระบบ Gravity หรือกระจายน้ำด้วยระบบการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็จะมีราคาถูกมาก ในยุคนั้นโครงการผามองจึงถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญที่น่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งซ้ำซากของภาคอีสานได้ อีกทั้งกระแสน้ำที่เหลือจะได้นำไปผลิตไฟฟ้าในราคาถูกได้ปีละ 25,000 ล้านหน่วย ในราคาหน่วยละไม่เกิน 10 สตางค์ (ต้นทุนในสมัยนั้น) ซึ่งนับว่าถูกกว่าที่ผลิตในประเทศขณะนั้นเกือบ 3 เท่า และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีกถึงเกือบ 3 เท่าเช่นกัน และจะไม่กระทบสิ่งแวดล้อมมากนัก กระแสไฟฟ้าที่โครงการผามองสามารถนำไปทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาถึงปีละ 6,000 ล้านลิตร

หากคิดราคาน้ำมันเตาในราคาในสมัยนั้น (ลิตรละ 1.20 บาท) แล้ว โครงการผามองจะสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศให้แก่ประเทศไทยได้ปีละ 7,200 ล้านบาท อีกทั้งบริเวณท้ายน้ำของเขื่อนผามอง จะเป็นแหล่งผลิตปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะให้ปลาได้ถึงปีละ 200 ล้านกิโลกรัม ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งผลิตโปรตีนของประชาชนที่ใหญ่มากในภูมิภาคนี้ จากรายงานการศึกษาฉบับนั้นสรุปว่าหากโครงการผามองได้รับการพัฒนา จะทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นแดนเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรของโลกแห่งหนึ่ง และเป็นแหล่งผลิตอาหารอันสำคัญยิ่งของชาวโลกอีกด้วย
นอกจากนั้นในรายงานฉบับดังกล่าวยังได้เสนอกลยุทธ์ก้าวย่างในการพัฒนาอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มหาศาลจากการพัฒนาโครงการผามองนี้ แต่ต้องใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 8 ปี ต้องใช้เงินทุนมากกว่า 30,000 ล้านบาท และต้องเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 3 ประเทศ โดยเฉพาะ สปป.ลาว

Advertisement

ดังนั้น รัฐบาลควรกำหนดนโยบาย ดังนี้

1.จัดให้โครงการผามองเป็นโครงการพัฒนาของชาติอันดับแรกและเร่งด่วน (วาระแห่งชาติ!) โดยให้ระดมกำลังคนและกำลังเงินมาทำการสำรวจ ศึกษา ขจัดปัญหาและอุปสรรคให้ลุล่วงจนได้เริ่มการก่อสร้างโดยเร็วที่สุด ตลอดถึงการปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้มีแนวโน้มไปสนับสนุนและรับผลการพัฒนาโครงการผามองนี้ด้วย

2.ปรับสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการผามอง โดยเฉพาะ สปป.ลาว ให้ดีขึ้นจนมีความเห็นชอบที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการผามองได้

3.ประชาสัมพันธ์และดำเนินการติดต่อแต่เนิ่นๆ เพื่อหาเงินทุนในการก่อสร้างโครงการ จากตลาดเงินทุนระหว่างประเทศ จากประเทศที่ร่ำรวย เช่น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง จากธนาคารโลก และธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย จากสถาบันการเงินในประเทศ เป็นต้น

ฉบับนี้เซิ้บๆ ประมาณนี้ก่อนนะครับ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image