‘ปศุสัตว์’​ ย้ำฝีหนองในเนื้อหมู เกิดจากการอักเสบ ไม่ใช่โรคติดต่อสู่คน

‘ปศุสัตว์’​ ย้ำฝีหนองในเนื้อหมู เกิดจากการอักเสบ ไม่ใช่โรคติดต่อสู่คน

นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากประเด็นที่มีการแชร์ข่าวผู้บริโภคพบเนื้อสุกรที่มีความผิดปกติมีลักษณะคล้ายฝีหนองฝังอยู่ในกล้ามเนื้อ สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้บริโภคถึงความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อสุกร เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าเกิดจากสุกรที่ป่วยเป็นโรคระบาดต่างๆ นั้น กรมขอยืนยันว่าการเกิดฝีหนองในกล้ามเนื้อดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการป่วยเป็นโรคระบาดหากแต่เกิดจากการอักเสบเนื่องจากการฉีดวัคซีนหรือยาเพื่อการรักษาให้แก่สุกร

“ฝีหนองที่ฝังในกล้ามเนื้อจึงมิได้เกิดจากการป่วยเป็นโรคระบาดต่างๆ แล้วทำให้เกิดฝีแต่ประการใด ซึ่งกรมและเครือข่ายพันธมิตร ได้ป้องกัน เฝ้าระวังโรคระบาดอันตรายในสุกรมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าโรคระบาดนั้นจะเกิดเฉพาะในสุกรไม่ติดต่อสู่คน แต่เพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้บริโภคขอยืนยันว่าไม่มีการนำสุกรที่ป่วยเป็นโรคเข้าผลิตส่งขายให้ผู้บริโภคแน่นอน” นายสัตวแพทย์ สรวิศกล่าว

ทั้งนี้ ถึงแม้โอกาสเจอฝีหนองจะไม่มากนัก เพราะโรงฆ่าสัตว์มีพนักงานตรวจเนื้อสัตว์ตรวจสอบสุกรทุกตัวทั้งก่อนการฆ่าและตรวจซากหลังการฆ่า รวมทั้งทำหน้าที่ตัดสินซากให้มั่นใจว่าไม่มีการนำสุกรป่วยที่ไม่เหมาะสมต่อการบริโภคหรือพบว่ามีฝีหนองที่บริเวณภายนอกเข้าผลิต หากการตรวจพบบริเวณฝีหนองแค่บางจุดไม่ใหญ่มากนักสามารถตัดเลาะบริเวณที่ได้รับผลกระทบออกไป และพิจารณาเนื้อส่วนที่ดีอื่นๆ ให้เหมาะสมต่อการนำมาบริโภคได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่​ผู้บริโภครายใดซื้อเนื้อสุกรจากสถานที่จำหน่ายแล้วพบเจอฝีในเนื้อ ให้ดำเนินการแจ้งผู้ขายหรือสถานที่จำหน่ายที่ซื้อเนื้อสุกรนั้นมาทันที เนื่องจากเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่พึงกระทำได้และผู้จำหน่ายเนื้อดังกล่าวต้องเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขหรือชดเชยให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อไป เพราะเข้าข่ายการจำหน่าย อาหารไม่บริสุทธิ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ผู้จำหน่ายอาจระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

Advertisement

นอกจากนี้ กรมขอเชิญชวนให้ประชาชนเลือกซื้อเนื้อสัตว์และไข่สดจากสถานที่จำหน่ายที่ได้รับรองและแสดงตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เนื่องจากสามารถมั่นใจสินค้าว่าสอบย้อนแหล่งที่มาได้ มีการคัดกรองลักษณะของเนื้อที่เหมาะสมในการบริโภค ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 รวมทั้งการปฏิบัติของฟาร์มมาตรฐานจีเอพี ต้นทางของสัตว์ที่มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มดำเนินการควบคุมการฉีดยาและวัคซีนต่างๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดฝีหนอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image