นักวิชาการหนุนรัฐบาลเขย่าลงทุน สัมฤทธิผล1ปีต้องเลิก‘ลูบหน้าปะจมูก’

นักวิชาการหนุนรัฐบาลเขย่าลงทุน สัมฤทธิผล1ปีต้องเลิก‘ลูบหน้าปะจมูก’

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายลง ซ้ำร้ายยังระบาดไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เรียกได้ว่าเป็นโจทย์หินของรัฐบาลที่ต้องพาประเทศฝ่าวิกฤตไปอีกครั้ง จากเดิมที่ไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติตอนนี้ก็ไม่สามารถหารายได้จากส่วนนั้นได้แล้ว สิ่งที่พอจะช่วยประคองเศรษฐกิจไปได้ในตอนนี้เห็นจะมีแต่ภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้อยู่ แต่ก็ไม่สามารถสร้างรายได้ทดแทนภาคการท่องเที่ยวที่หายไป รัฐจึงต้องหาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อมาช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดไปมากกว่านี้ ตัวช่วยนั้นคือ ภาคการลงทุน

⦁รบ.ตั้งเป้าสร้างผลสัมฤทธิ์ใน1ปี
โดยรัฐบาลต้องเป็นผู้นำ เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกตัวแล้วว่าจะเร่งขับเคลื่อนและดึงนักลงทุนทั่วโลกเข้าไทยให้มากขึ้น และเรื่องของการลงทุนถูกจัดอยู่ในนโยบายต้องเร่งรัดช่วงระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าพร้อมกับถูกจับตามองว่าเป็นการเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ส่งต่อให้กับรัฐบาลชุดใหม่ในวันข้างหน้า และอาจนำมาเป็นจุดขายต่อไป ว่ารัฐบาลชุดนี้ผลักดันได้ไปตามยุทธศาสตร์ชาติตามกรอบที่กำหนด 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี

ดังนั้น จึงเห็นชอบและสั่งการตั้งคณะทำงานปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุน และดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย โดยคณะทำงานชุดนี้มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ทำหน้าที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่ต้องชักชวนให้เข้ามาลงทุน จูงใจเข้ามาทำงาน และอาศัยอยู่ระยะยาวในประเทศไทย เบื้องต้นกำหนดเป้าหมาย 1 ล้านคน แยกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง 2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งนอกจากจะเป็นการชักจูงการลงทุนแล้ว ยังมีเป้าหมายในการดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามากระจายเม็ดเงินในประเทศเพิ่มเติมอีกด้วย

⦁คลัสเตอร์โควิดซ้ำเติมภาคลงทุน
เรื่องนี้นักวิชาการอย่าง นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)สะท้อนมุมมองเห็นด้วย แต่ก็แนะนำหลายเรื่องให้รัฐบาลต้องคิด การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเกิดแหล่งเกิดเชื้อไวรัส (คลัสเตอร์) เป็นการซ้ำเติมประเทศแย่ลงอีก โดยพื้นฐานในประเทศไทยมีปัญหาอยู่แล้ว อาทิ ปัญหาสังคมสูงวัย สุ่มเสี่ยงในเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ประเทศไทยพยายามหาวิธีปรับโครงสร้างอยู่ โดยการสร้างโครงการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน อย่างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่พอเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นส่งผลให้แผนที่วางไว้ต่างๆ เกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น อาทิ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือเอ็มอาร์โอ ที่ไทยเคยคาดหวังไว้ว่าจะเอาเครื่องบินนานาชาติเข้ามาส่งผู้โดยสารและสามารถมาซ่อม หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องได้ จากเดิมที่คาดหวังไว้ตอนนี้ก็ไม่สามารถทำได้แล้ว ซึ่งผลกระทบหลักเกิดจากโควิด-19 กระทบภาคการท่องเที่ยว จนส่งผลให้เรื่องนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

Advertisement

รวมถึงการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอนนี้การผลักดันในเรื่องดังกล่าวอาจยังไม่เกิดความสนใจเท่าเรื่องการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มองว่า 10 อุตสาหกรรมดังกล่าวยังไม่ล้าสมัยเพราะบางอุตสาหกรรมก็มีปัญหาของมัน อาทิ เมืองการบินถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมใหม่ เรื่องนี้ไม่ได้มองว่าล่าช้า ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ภาครัฐตั้งขึ้นตรงนี้เป็นอุตสาหกรรมที่เคยมีศักยภาพในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่เมื่อต้องมาพัฒนาเพิ่มเติมหลังโควิด-19 อาจจะส่งผลให้ศักยภาพหายไปบ้างแต่ก็ยังมีหนทางเพิ่มศักยภาพขึ้นมาใหม่ได้

⦁แรงงานไทยต้องเร่งเพิ่มทักษะ
ดังนั้น โจทย์ที่รัฐบาลต้องเร่งทำโดยไม่ต้องรอให้โควิดจบลง คือต้องปรับปรุงและพัฒนาอุสาหกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ให้มากขึ้น ท้ายที่สุดต้องดูถ้าอุตสาหกรรมใดเก่า มันไม่ไหว หรือเกิดในไทยยาก ต้องเพิ่มการพัฒนาให้มากขึ้น ส่วนเรื่องระเบียบในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย มองว่าปัจจัยหลักที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในไทยไม่ได้อยู่ที่เรื่องกฎระเบียบ หรือสิทธิประโยชน์มากนัก สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจคือเรื่องของการจัดหาแรงงาน ซึ่งไทยยังด้อยในเรื่องนี้ อย่างหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุนต้องการวิศวกรที่เรียนจบ ปวช.หรือ ปวส. แต่เราไม่สามารถหาให้ได้ เพราะในประเทศไทยส่วนใหญ่มีแต่เด็กที่จบปริญญาตรี ในเรื่องนี้จึงทำให้การลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นในไทยน้อยลง

ปัญหาหลักๆ คือไทยมีแรงงานที่มีทักษะน้อย อีกทั้งประเทศไทยมีกฎกีดกันทำให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ไม่เยอะ ถ้าจะปรับคงต้องปรับในเรื่องนี้ จึงมองว่าปัญหาหลักๆ คือเรื่องของการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ เรื่องนี้ส่งผลให้ไทยเป็นรองและไม่สามารถสู้หลายๆ ประเทศได้ บางบริษัทที่ต้องการเข้ามาลงทุนต้องการหาแรงงานหลักหมื่นถึงแสนคนที่จะสร้างหนึ่งโครงการขึ้นมา ซึ่งประเทศไทยก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเรื่องนี้ได้เทียบกับประเทศเวียดนามที่มีแรงงานหนุ่มสาวเยอะและต้นทุนถูกกว่า จึงทำให้ไทยเป็นรองกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก

Advertisement

⦁ระยะสั้นดึงเงินทุนนอกไม่ง่าย
ส่วนปัจจัยที่จะสามารถเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้คือ การอัดฉีดมาตรการภาครัฐ ที่ตอนนี้รัฐได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่พึ่งผ่านมติสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อไม่นานนี้ ก็ต้องนำไปอัดฉีดให้ตรงจุด แต่ก็อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับปานกลาง ส่วนเรื่องการลงทุนยังไงก็ยังไม่กลับมาได้ง่ายๆ ภายใน 1 ปี เข้าใจว่าการที่จะเกิดการลงทุนต้องขายของได้ก่อน เพราะฉะนั้นดีมานด์จะต้องฟื้นก่อน การที่ภาครัฐกระตุ้นมันจึงไม่ใช่ดีมานด์จริง คาดว่ากว่าจะกลับเป็นปกติน่าจะช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ดังนั้น ในช่วงนี้ไทยควรทำตัวให้เซ็กซี่ก่อน ปรับโครงสร้างพื้นฐานวางกลยุทธ์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เม็ดเงินเริ่มกลับเข้ามา ถ้าไทยมีความพร้อมทั้งเรื่องแรงงาน และนโยบายต่างๆ ก็สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ แต่คงไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น แต่เตรียมไว้ก็เป็นสิ่งควรทำ

นอกจากเรื่องการอัดฉีดเม็ดเงินจะเป็นตัวช่วยในการฟื้นเศรษฐกิจแล้ว รัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้ครบตามเป้าหมายด้วยหากทำได้อย่างที่รัฐบาลรับประกัน ประชาชนในประเทศก็กล้าที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ รวมถึงต่างชาติสามารถกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ เงินจะสะพัดมากขึ้น แต่ในระหว่างที่ยังฉีดวัคซีนไม่ได้ตามเป้าหมาย ภาครัฐได้ออก พ.ร.ก.เงินกู้ที่เพิ่มวงเงินรอบใหม่ให้กับภาครัฐ มองว่าเงินจำนวนนี้ หากภาครัฐนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจดีๆ โดยเฉพาะงบฯในด้านการฟื้นฟู อยากให้ภาครัฐนำเงินมาใช้ในการฟื้นฟูจริงๆ ที่ผ่านมารัฐมักจะนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ แบบลูบหน้าปะจมูก ใช้เงินไปแบบไม่ยั่งยืน ซึ่งบางโครงการมีการดำเนินการอยู่แล้ว รัฐควรวางแผน เพราะเงินที่ลงไปต้องก่อให้เกิดผลในระยะยาวถึงจะเป็นการฟื้นฟูจริงๆ ซึ่งในส่วนของมาตรการในการเยียวยาต่างๆ ที่ออกมาในช่วงนี้ถือว่าทำได้ดี แต่พอมาเรื่องของการฟื้นฟูมองที่ทำอยู่ยังไม่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเลย

จากความคิดเห็นของนักวิชาการสะท้อนให้เห็นว่า เส้นทางดึงต่างชาติลงทุนในไทยยังอีกไกล กว่าจะไปถึงจุดสำเร็จที่หลายฝ่ายตั้งธงไว้ คงต้องลุ้นต่อไปว่ารัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถปิดจ๊อบการลงทุนได้ภายใน 1 ปี อย่างตั้งใจไว้ได้หรือไม่!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image