ไทย-อียู ถกสร้างความเชื่อมั่นการค้าพหุภาคี เร่ง WTO แม่งานดันซีแอลวัคซีน “จุรินทร์” ยันเดินหน้าเปิดเจรจาเอฟทีเอ

ไทย-อียู ถกสร้างความเชื่อมั่นการค้าพหุภาคี เร่ง WTO แม่งานดันซีแอลวัคซีน “จุรินทร์” ยันเดินหน้าเปิดเจรจาเอฟทีเอ

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนายปีร์กะ ตาปีโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ว่า ได้หารือใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. ทั้งสองฝ่ายเห็นไปในทางเดียวกันว่าดันองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าพหุภาคี เร่งรัดปฎรูปการค้าโลก เร่งรัดการมีองค์กรพิจารณาข้อพิพากใช้ช่วงมีการอุทธรณ์ เร่งสรุปเรื่องการอุดหนุนการประมง ยังได้ หารือเกี่ยวกับมาตรการของอียูในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะพลาสติก เกษตรอินทรีย์ และสวัสดิภาพสัตว์ โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะสร้างความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องดังกล่าว เพราะรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริม เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และยกระดับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ซึ่งนายจุรินทร์ได้ขอให้อียูหารือกับกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนไทยแต่เนิ่น เพื่อไม่ให้มาตรการในเรื่องดังกล่าวมีความเข้มงวดเกินความจำเป็น หรือเป็นอุปสรรคทางการค้าต่อกัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า 2. สองฝ่ายเห็นพ้องผลักดันกระบวนการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับอียู เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้กับธุรกิจไทย ดึงดูดการลงทุนจากอียู เพิ่มการจ้างงาน และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิด-19 ซี่งขณะนี้ระดับเจ้าหน้าที่กำลังจัดทำเอกสารที่เข้าสู่การเจรจา โดยไทยมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินการ ซึ่งรายงานว่าจะดำเนินการได้ข้อสรุปก่อนเปิดเจรจาได้ภายในสิ้นปี 2564 ก่อนขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป ซึ่งทางอียูคาดหวังไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากเวียดนามและสิงคโปร์ที่เริ่มเปิดเสรีกันแล้ว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า 3.ทั้งสองฝ่ายเห็นไปในทางเดียวกันว่าองค์การการค้าโลก (WTO) ควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเพิ่มกำลังการผลิตและกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งตน ได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับอียูเพื่อสนับสนุนให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2564 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ประสบผลสำเร็จ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการค้าพหุภาคี

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า 4. ได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการอียูเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าในรูปแบบออนไลน์ เช่น งานแสดงสินค้าแบบเสมือนจริง (Virtual Trade Show) และการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) เพื่อพลิกวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เป็นโอกาสใหม่ของภาคธุรกิจ ซึ่งไทยเตรียมจัดกิจกรรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ทั้งนี้ ปี 2563 การค้าไทยกับอียู (27 ประเทศ) มีมูลค่าการค้า 3.3 หมื่น ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 1ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.56 ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู 17,637.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท และนำเข้าจากอียู 15,496.77 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.8 แสนล้านบาท สำหรับ 4 เดือนแรกปี 2564 การค้าไทย-อียูมีมูลค่า 12,879.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 388,301.92 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image