‘เฉลิมชัย’ สั่งปศุสัตว์ลุยสยบ ‘ลัมปี สกิน’ หลังได้วัคซีนเพิ่มอีก 264,000 โดส

‘เฉลิมชัย’ สั่งปศุสัตว์ลุยสยบ ‘ลัมปี สกิน’ หลังได้วัคซีนเพิ่มอีก 264,000 โดส นำร่องฉีดอีสานแล้ว ขออย่าใช้ของเถื่อน หวั่นเร่งการระบาด

นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของลัมปี สกิน ล่าสุดพบมีโค-กระบือ ป่วยประมาณ 75,000 ตัว รักษาหายแล้ว 9,000 ตัว มีสัตว์ป่วยคงเหลือ 66,000 ตัว และมีสัตว์ตาย 9,000 ตัว ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน หนึ่งในมาตรการสำคัญที่กำลังดำเนินการคือ การใช้วัคซีน ซึ่งวัคซีนล็อตแรก 60,000 โดส ที่กรมปศุสัตว์นำเข้ามาเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการจัดสรรไปยังจังหวัดที่เกิดการระบาดแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดทางภาคอีสาน โดยขณะนี้ได้มีการ Kick off ฉีดวัคซีน (LSDV) ในโค-กระบือ เช่น ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และนครราชสีมาแล้ว

สำหรับการนำเข้าวัคซีนล็อต 2 อีก 300,000 โดสนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา วัคซีน จำนวน 264,000 โดส ได้เข้ามาถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่เหลืออีก 36,000 โดส จะเข้ามาถึงช่วงปลายสัปดาห์นี้ วัคซีนชุดนี้กรมปศุสัตว์จะจัดสรรไปยังทุกจังหวัดที่มีการระบาดเช่นกัน ตามแนวทางที่กำหนดคือ ให้เกษตรกรรายย่อยในทุกจังหวัดที่เกิดโรคตามอัตราส่วนจำนวนโค กระบือ และการอำนวยความสะดวกให้สมาคม เอกชน กลุ่มผู้เลี้ยงที่มีความพร้อมในการสั่งวัคซีนเข้ามาป้องกันโรคในกลุ่มของตนเองขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ได้จัดหน่วยพ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค แจกผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ยารักษา วิตามิน แร่ธาตุ และยาบำรุงร่างกายสัตว์ ออกให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่การระบาดควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีข้อสั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน และเต็มที่ในการควบคุมการแพร่ระบาดทุกช่องทางตาม 5 มาตรการที่กำหนด รวมถึงการสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรในเรื่องของการใช้วัคซีน LSDV ที่ถูกต้อง ด้วยขณะนี้พบว่ามีการแอบใช้วัคซีนเถื่อน ดังนั้น กรมปศุสัตว์ขอแนะนำว่าไม่ควรใช้อย่างเด็ดขาดโดยมีเหตุผลสำคัญคือ หนึ่ง เป็นวัคซีนที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพจาก อย. และสอง วัคซีนลัมปี สกินที่มีใช้อยู่เป็นวัคซีนเชื้อเป็นต้องไปฉีดภายใต้การกำกับดูแลของสัตวแพทย์ ไม่เช่นนั้นจะเป็นสาเหตุทำให้การเกิดโรคมีความรุนแรงและแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น

Advertisement

“ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังสมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ ในการเร่งกระจายยา เวชภัณฑ์ควบคุมโรคลัมปี สกิน ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังสมาชิกและเครือข่ายได้เร่งกระจายยา เวชภัณฑ์จำเป็นที่ใช้ในการรักษา ควบคุมโรค ป้องกันแมลงบนตัวสัตว์ และคอกบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งจะเป็นการบรรเทาและป้องกันการขาดแคลนยาจำเป็นในการควบคุมรักษาโรค” นสพ.สรวิศกล่าว

นสพ.สรวิศกล่าวว่า สำหรับยาและเวชภัณฑ์จำเป็นที่ใช้ในการรักษา ควบคุมโรค ป้องกันแมลงบนตัวสัตว์ และคอกบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบด้วย หนึ่ง ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatoryNSAIDs) ที่เน้นลดไข้ เช่น Dipyrone, Tolfenamic acid, Flunixin meglumine สอง ยาปฏิชีวนะชนิดออกฤทธิ์กว้างและออกฤทธิ์ได้ดีที่ผิวหนัง เช่น กลุ่ม penicillin สาม ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ เช่น gentian violet และยาป้องกันแมลงวันตอม วางไข่ที่แผล สี่ ยาผงโรยแผลป้องกันแมลงวัน หรือสมุนไพรทากีบ และกำมะถันสำหรับทาแผล ห้า วิตามินบำรุง และแร่ธาตุ เช่น AD, E หก ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงบนตัวสัตว์ เช่น Amitraz, flumethrin, trichlorfon, Ivermectin, และเจ็ด ผลิตภัณฑ์แบบฉีดพ่นบริเวณฟาร์ม เช่น กลุ่ม pyrethrod

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image