อุทาหรณ์ เรียนรู้จากข่าวดัง : รถดีแค่ไหน ก็ยังแพ้กฎฟิสิกส์

วันก่อนมีข่าวดังข่าวหนึ่ง เป็นข่าวอุบัติเหตุที่น่าสลดใจ จากการที่เจ้าของรถสปอร์ตเปิดประทุนคันหนึ่ง ขับรถไปกับหญิงสาววัย 18 อาชีพพริตตี้ ชมวิวทิวทัศน์ของถนนสาย 12 พิษณุโลก- หล่มสัก มีการไลฟ์สด ความสวยงามของสองข้างทาง ท่ามกลางฝนตก

จากนั้นเจ้าของรถคันดังกล่าวก็ขับรถกลับมาทางจังหวัดเพชรบูรณ์ กระทั่งมาเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง รถเกิดเสียหลัก ข้ามไปอีกฝั่งของถนน ชนเข้ากับรถเก๋งซูซูกิ สวิฟท์ จนมีผู้เสียชีวิต สามราย เป็นที่สลดใจของผู้ที่อ่านข่าว เพราะหลังจากนั้นมีการเปิดเผยภาพกล้องหน้ารถ ของผู้ที่อยู่บนถนนดังกล่าว จะเห็นว่ารถคันดังกล่าวเปิดประทุน ขับด้วยความเร็วสูงกว่าคันอื่น มีการเปลี่ยนเลนกะทันหัน แซงไปมา แม้จะเป็นช่วงขณะที่ฝนกำลังตก

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด แต่รายงานชิ้นนี้ ทำขึ้นเพื่อหวังให้มีการเรียนรู้ด้วยหลักการทางวิชาการ และตอบคำถามที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น ทำไมถึงเปิดประทุนขณะที่ฝนตก แล้วคนขับไม่เปียกฝนหรือ ไปจนถึงคำถามว่า รถสปอร์ต ราคาแพง ไม่น่าจะเสียหลักง่าย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล และเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนใช้รถและผู้อ่าน

 

Advertisement

เปิดประทุนขับ ไม่เปียกจริงหรือ?

เป็นอีกคำถามจากข่าวที่เกิดขึ้น เพราะคนขับรถขับแบบเปิดประทุนเป็นระยะทางไกล ไม่เปียกฝนหรือ ตอบอย่างง่ายที่สุดคือจริง แต่ก็มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง

เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ รถสปอร์ต โดยหลักปรัชญาการออกแบบ จะเป็นรถที่เน้นทำความเร็วสูง เป็นหลัก เมื่อต้องทำความเร็วสูง การออกแบบรถประเภทดังกล่าว ก็จะอยู่ในหลักการทำให้รถมีน้ำหนักเบามากที่สุด ต้องทำให้รถเกาะถนนให้ดีที่สุด รถสปอร์ตส่วนใหญ่จึงค่อนข้างเล็ก และรถค่อนข้างเตี้ย เพื่อให้จุดศูนย์ถ่วงของรถต่ำที่สุด อันจะเป็นจุดที่ทำให้รถทรงตัวได้ดีในความเร็วสูง

นอกจากน้ำหนักเบา ตัวรถต่ำ หลักสำคัญอีกอย่างคือคือเรื่อง อากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics)พูดง่ายๆก็คือ ต้องทำให้รถไม่ต้านลม ต้องออกแบบให้อากาศเคลื่อนผ่านรถไปได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด รถสปอร์ตยุคหลังๆ แข่งกันเน้นเรื่องนี้ เราจึงเห็นรถสปอร์ตที่หลักอากาศพลศาสตร์ดี คันจะเล็ก ดีไซนต์จะลู่ลม และหลักการนี้เอง ที่ทำให้รถเปิดประทุน เวลาขับตอนฝนตก ฝนไม่เปียก

มียูทูปเบอร์ชาวไทย หนึ่งคน ทำการทดสอบเรื่องนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ เขาคือ เบนซ์-ศรัณย์ เกียรติเทพขจร เจ้าของช่อง DBigbike เขานำรถสปอร์ต Mazda MX5 เปิดประทุนขับกลางสายฝน ในกรุงเทพฯวันที่ฝนตกปรอยๆเพื่อทำการทดสอบว่าเปิดประทุนขับ ไม่เปียกฝนจริงหรือ? ต้องใช้ความเร็วเท่าไหร่ ฝนถึงจะไม่โดนผู้ขับขี่ จากการทดสอบ ความเร็วประมาณ 20 กม./ ชม. ที่ขับออกจากจุดเริ่ม ฝนก็ยังตกมาโดยศรีษะอยู่ แต่พอความเร็วเพิ่มขึ้น เป็น 30 -40- 50 กม./ ชม. ฝนที่โปรยลงมาก็ไม่โดนตัวแล้ว อธิบายเรื่องนี้ก็คือเรื่องอากาศพลศาสตร์นั่นเอง

เขายกตัวอย่างการขับรถมอเตอร์ไซต์แบบสปอร์ต ที่จะมีแฟริ่งรถด้านหน้าคอยปะทะลม เมื่อขับที่ความเร็ว และขับระยะไกล ลมที่มาปะทะตัว จะโดนแฟริ่ง อากาศจะไหลเคลื่อนข้ามหัวผู้ขับจนรู้สึกเมื่อยน้อยกว่า ส่วนคนขับรถมอเตอร์ไซต์แบบทรงเน็คเก็ตที่ไม่มีแฟริ่งด้านหน้า สรุป ลมที่มาปะทะตัวจากการขับมอเตอร์ไซต์ทรงสปอร์ตจะน้อยกว่า การขับมอเตอร์ไซต์ทางเน็คเก็ตนั่นเอง

ยูทูปเบอร์คนดังกล่าวทำการทดลองสรุปผลได้ว่า ถ้าขับที่ความเร็ว 60 กม./ชม.ขึ้นไป จะไม่โดนฝนเลย ทั้งนี้ ต้องเป็นการขับที่ฝนตกแบบโปรยๆ ไม่ใช่ฝนตกแบบพายุกระหน่ำ แต่พอต้องเบรก หรือต้องติดไฟแดง ฝนก็เปียกตามปกติ

 

รถดีแค่ไหน ก็ยังแพ้หลักฟิสิกส์

ถ้าจะบอกว่ารถยนต์ที่ดีคือรถที่พยายามเอาชนะกฎทางฟิสิกส์ให้ได้มากที่สุดก็คงจะไม่ผิด แต่ไม่ว่ารถจะราคาแพงแค่ไหน มีการออกแบบระบบความปลอดภัย การขับขี่ที่ดีที่สุดในโลกขณะนี้ก็ยังแพ้กฎทางฟิสิกส์

คนที่เข้าใจเรื่องนี้ดีคือ อิลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เทสลา เมื่ออาทิตย์ก่อน เขากล่าวในการเปิดตัวรถ Model S Plaid ของเทสลาที่สนามทดสอบใกล้ๆ โรงงานของบริษัทในเมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย รถไฟฟ้ารุ่นใหม่ของเขาสามารถทำความเร็ว 0-100 กม./ ชม. ได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 วินาที เพราะเป็นรถที่มีแรงม้าถึง 1,020 แรงม้า มัสก์ กล่าวในเชิงคุยโวนิดๆ ว่า รถ Model S Plaid เป็นรถที่ “เร็วกว่าปอร์เช่ แต่ปลอดภัยกว่าวอลโว” แต่มัสก์พูดชัดเจนโยงเรื่องฟิสิกส์ เขา เรียกรถคันนี้ว่า “วิศวกรรมท้าทายข้อจำกัดของกฎแห่งฟิสิกส์” แสดงให้เห็นว่า เขาสร้างรถคันนี้โดนตั้งเป้าที่จะพยายามเอาชนะกฎทางฟิสิกส์นั่นเอง

นั่นคือวิธีคิดของคนที่ออกแบบรถแรง ว่าเขาต้องการจะเอาชนะข้อจำกัดทางฟิสิกส์ แต่สำหรับนักขับ ต้องคำนึงถึงหลักทางฟิสิกส์เรื่องกฎของการเคลื่อนไหวและกฎการเคลื่อนที่ของวัตถุด้วยความเร็วสูงให้ดี

เราต้องไม่ลืมว่าแม้วิศวกรรมยานยนต์จะก้าวหน้าไปมากแค่ไหนก็ตาม แต่ไม่มีรถคันใดที่จะมีระบบช่วยเหลือการขับขี่ให้ผู้ขับปลอดภัยได้ 100% ไม่มีรถคันใด หยุดรถได้ทันที ที่กดแป้นเบรก แม้รถทีมีระบบเบรกดีที่สุดก็ต้องใช้ระยะทางหลายสิบเมตร ยิ่งมาด้วยความเร็วสูง ระยะทางที่รถจากจุดที่เบรกจนถึงจุดหยุดนิ่งก็ใช้ระยะทางยาวมากขึ้น

ในปี 2019 นิตยสาร CAR magazine นำรถไปทดลองประสิทธิภาพของการเบรก โดยจับเวลาการเบรกแบบเต็มกำลังที่ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจนหยุดนิ่งสนิทที่ 0 กิโลเมตร พบว่า BMW Z4 M40i Steptronic (ซึ่งเป็นรถรุ่นเดียวกับที่เป็นข่าวดัง) ใช้เวลาหยุดจาก 100 กม. / ชม. ลงไปจนหยุดสนิท ก็ยังใช้เวลาไป 2.49 วินาที

การพยายามฝืนกฎฟิสิกส์ได้ดีที่สุดที่มนุษย์ทำได้ก็ยังต้องใช้เวลาและระยะทาง

ยกตัวอย่างข่าวที่มีให้เห็นบ่อยครั้งว่ารถซูเปอร์คาร์ราคาหลายสิบล้าน ต้องมาประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเกิดจากการขับขี่ของตัวผู้ขับเอง ไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลที่สามเลย

จากกรณีอุบัติเหตุรถขับด้วยความเร็วสูงในขณะที่ฝนตก ถนนเปียก จนทำให้รถเสียหลักเหินข้ามเกาะกลาง ไปชนกับรถที่สวนมาอย่างจังเป็นเหตุสลดสุดเศร้านั้น

อาการนี้เรียกว่า Hydroplaning หรืออาการเหินน้ำ อธิบายตามทฤษฎีว่า มันคือ อาการของยางรถยนต์ที่หมุนไปเหนือชั้น (Layer) ของน้ำ ทำให้ยางไม่เกาะกับผิวถนน ทำให้สูญเสียการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นทิศทางหรือการเบรก เพราะความฝืดระหว่างล้อรถยนต์กับถนนถูกกั้นด้วยน้ำนั่นเอง ตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดอาการนี้คือ “ความเร็ว” ยิ่งขับมาด้วยความเร็วสูงเท่าไหร่ Hydroplaning หรืออาการเหินน้ำ ยิ่งมีอัตราการเกิดสูงมากเท่านั้น บวกกับปัจจัยอย่างน้ำหนักของรถ ถ้ารถยิ่งหนัก พอเสียการควบคุม ยิ่งแก้อาการได้ยาก นอกจากนี้ยังต้องดูดอกยาง เพราะหากดอกยางสึกหรือแทบไม่มีดอกยาง การรีดน้ำจะทำได้ไม่ดี การเหินน้ำยิ่งง่าย ปัจจัยสุดท้ายคือถนน คือ ถนนที่ลาดแบบยางมะตอยจะลื่นได้ง่ายกว่าถนนที่เป็นถนนแบบปูน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะถนนประเภทไหน เวลามีฝนตกไม่ขับรถเร็วจะดีที่สุดนั่นเอง

ขับรถหน้าฝนต้องระวังอะไรบ้าง?

ช่วงฝนตกมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าช่วงปกติ หลัก 5 ข้อ ง่ายๆให้ยึด

1.อย่าขับรถเร็วจนเกินไป เพราะด้วยทัศนวิสัยในการมองไม่ชัดเจนเหมือนในช่วงเวลาปกติ จึงไม่ควรขับเร็ว หากเกิดเหตุไม่คาดคิดด้านหน้า เช่น มีการเบรกกะทันหัน หรือมีรถจอดเสียด้านหน้าอาจทำให้เบรกไม่ทันหรือเบรกไม่อยู่ได้ เพราะด้วยถนนมีความลื่นมากกว่าปกติ

2.อย่าเบรกแบบกะทันหัน เพราะพื้นถนนหรือมีน้ำขังอยู่บนท้องถนน การเบรกอย่างกะทันหัน อาจส่งผลให้เบรกไม่อยู่หรือเสียการควบคุมจากการลื่นไถลจนไปชนรถด้านหน้าได้ รวมไปรถที่ตามหลังมาก็อาจชนด้านท้ายรถเราได้

3.หลีกเลี่ยงแอ่งน้ำ เพราะอาจเกิดอาการยางเหินน้ำ จะเกิดขึ้นในขณะที่ถนนเปียกหรือมีน้ำเพิ่มมากขึ้นบนพื้นถนน หากยางรถไม่สามารถรีดน้ำออกจากยางได้ทัน หน้ายางและดอกไม่ได้สัมผัสกับพื้นถนน ทำให้ยางหมุนอยู่บนฟิล์มน้ำแทน อันเป็นเหตุให้รถเสียการควบคุม และเกิดอาการลื่นไถลได้

4.อย่าเปลี่ยนเลนกะทันหัน นับเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทั้งการขับรถเร็วเกินไป หรือคันหน้าเกิดเบรกกะทันหัน ทำให้รถคันที่ขับตามมาต้องเปลี่ยนเลนกะทันหัน จนลืมมองว่ารถที่อยู่ด้านหลังของเลนที่เราเปลี่ยนไปใช้แบบกระชั้นชิดเบรกไม่ทันจนชนท้ายรถเราได้

5.เปิดไฟหน้า ในช่วงฝนตกหนักจริงๆ หรือทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ชัดเจน ช่วยให้เรามองเห็นสถานการณ์หรือรถด้านหน้า และไฟจากรถเราก็ยังช่วยให้รถที่คันด้านหน้าหรือคันที่สวนทางมามองเห็นไฟจากรถเราด้วย

สำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้า ขอให้พึงระลึกไว้ว่า ถ้าเกิดอาการเหินน้ำ รถเสียการควบคุม จะเกิดการสูญเสียมาก แก้อาการได้ยากกว่า รถขับเคลื่อนล้อหลัง ข้อพึงระวังของรถขับเคลื่อนล้อหน้าคือ อย่าเร่งความเร็วแบบฉับพลัน สำหรับรถขับเคลื่อนล้อหลัง แม้จะควบคุมอาการเหินน้ำได้ง่ายกว่ารถขับหน้า แค่อย่าตกใจ ยกคันเร่ง อย่าเบรก ประคองรถ คืนพวงมาลัยไปทางตรงข้ามกับส่วนท้ายของรถ ก็จะช่วยให้รถกลับสู่ปกติ ยกเว้น แต่ถ้ามาแรงก็รุนแรงไม่แพ้กัน

ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยให้เราขับขี่อย่างปลอดภัยเวลาฝนตก ถนนเปียก คือ “ความเร็ว” นั่นเอง ยิ่งขับไม่เร็วอัตราเสี่ยง อันตรายยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image