นายกธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้เปิดประเทศต้องยึด 3 มิติ ปัจจัยหลักเร่งฉีดวัคซีน

นายกธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้เปิดประเทศต้องยึด 3 มิติ ปัจจัยหลักเร่งฉีดวัคซีน

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า เชื่อว่าการที่นายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจประกาศเปิดประเทศใน 120 วันนั้น ย่อมต้องมีผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างกันทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน แต่การตัดสินใจของนายกฯมิได้เกิดจากการใช้ความคิดของนายกฯเพียงท่านเดียว ในคณะกรรมการของ ศบค ที่มีทั้งด้านสาธารณะสุข ด้านความมั่นคง และฝ่ายเศรษฐกิจ ได้มีการประชุมร่วมกันแล้วสรุปรวบรวมเพื่อเสนอให้นายกฯได้ตัดสินใจต่อไป และเป็นการตัดสินใจแบบบริหารความเสี่ยง ซึ่งผมถือว่าเป็นความถูกต้องของผู้บริหาร เพราะถ้าตัดสินใจแบบดำกับขาว ผมเชื่อว่าประเทศเสียหายมาก เนื่องจากมนุษย์เราต้องอยู่กับโควิดตลอดไปเหมือนโรคไข้หวัด แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะต้องอยู่กับมัน ภายใต้ความสมดุลของด้านเศรษฐกิจ สังคมและสาธารณสุข ผมขอสนับสนุนและขอชื่นชมในการตัดสินใจของท่านนายกฯในครั้งนี้

นายธนากรกล่าวว่า การเปิดประเทศนั้นจะต้องพิจารณาร่วมกันในสามมิติหลัก คือ สังคม เศรษฐกิจและความปลอดภัยจากโควิด พร้อมทั้งต้องมีเครื่องมือที่นำบริหารจัดการ เพื่อให้การเปิดประเทศเกิดประโยชน์คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือกับผลกระทบที่จะตามมา เครื่องมือหลักที่จะขอพูดถึง มาตรการและกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้ ต้องมาพิจารณาทบทวนควบคู่กันไปด้วย ว่ามันยังคงมีความจำเป็นหรือเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันนี้ไหม มันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนไหม และจะต้องทำโดยไม่ชักช้า เพราะถ้าเปิดประเทศภายใต้มาตรการและกฎระเบียบแบบเดิมๆ โดยไม่คำนึงถึงสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป การเปิดประเทศก็อาจจะเสียประโยชน์ หรือไม่คุ้มค่า หลังจากที่รัฐบาลต้องต่อสู้ข่าวปลอมเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่งรัฐบาลได้ทำการรณรงค์ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน และในที่สุดก็สามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนแล้ว

“ในวันนี้รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการนำพาประเทศพ้นจากผลกระทบของวิกฤตของการแพร่ระบาดของโควิดนี้ให้ได้ สิ่งสำคัญ เมื่อรัฐบาลใช้เครื่องมือด้านสาธารณสุขที่จะให้เกิดความปลอดภัยจากโควิดแล้ว ผลกระทบที่ยังคงเป็นอยู่ก็คือการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้บัญญัติให้ความสำคัญไว้ว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน” นายธนากรกล่าว

นายธนากรกล่าวต่อว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศการท่องเที่ยว คือ ด้านการสันทนาการ การบันเทิง ธุรกิจอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้ประกอบการด้านร้านอาหาร สถานบันเทิง ที่พัก รวมถึงโรงแรม ที่ต้องมีกิจกรรมร่วมในการประกอบธุรกิจของเขาก็ยังคงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดประเทศและถูกกฎระเบียบที่ไม่เหมาะสมทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ เช่น การห้ามดื่มภายในร้านหรือในบางสถานที่ รวมถึงเวลาที่อนุญาตให้บริการเพราะต้องปิดเร็ว ก็ควรที่จะต้องพิจารณาทบทวนเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งถ้าอนุญาตให้ดื่มกินได้และขยายเวลาในการเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น พร้อมด้วยแนวทางปฏิบัติควบคุมป้องกันที่เหมาะสม ก็จะสามารถบริหารจัดการและป้องกันโควิดและลดอุปสรรคของการประกอบธุรกิจได้อย่างแน่นอน

Advertisement

นอกจากนี้ มาตรการเดิมที่ประกาศบังคับใช้ล่าสุดที่ผ่านมา คือ การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือทางออนไลน์นั้น ก็เห็นได้ว่าเหตุผลในการออกประกาศห้ามดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์และเกินความจำเป็น ซึ่งเหตุผลในการออกประกาศก็อ้างถึงป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนและอ้างว่าไม่สามารถควบคุมการขายในวันเวลาและสถานที่ที่ห้ามได้ จึงออกประกาศห้ามขาย การออกกฎหมายแบบนี้ไม่ใช่เป็นการควบคุม เพราะถ้าต้องการควบคุมก็สามารถกำหนดได้ว่า การซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ห้ามการซื้อขายกับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ การซื้อขายและส่งมอบสินค้าจะต้องไม่เป็นวันและเวลา ตลอดจนสถานที่ที่กฎหมายห้าม แต่การประกาศห้ามขายเลยนั้น มันเกินความจำเป็น ต้องไม่ลืมว่าการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นรัฐบาลสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบได้ง่ายเพราะมีหลักฐานการซื้อขายจากทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด สามารถติดตามตรวจสอบได้หมดว่า ซื้อขายให้ใคร วันเวลา และสถานที่ไหน ซึ่งง่ายและดีกว่าการที่จะต้องให้ผู้ซื้อต้องออกเดินทางไปหาซื้อ คือ ต้องมาเสี่ยงกับการไปติดเชื้อ หรือไปแพร่เชื้อโควิด และขัดกับนโยบายและมาตรการของ ศบค.เองที่ต้องการให้เว้นระยะห่าง และงดหรือลดการเดินทาง รวมถึงรัฐบาลเองก็กำลังส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย อุปสรรคอีกประการหนึ่งที่อยากจะขอให้รัฐบาลได้ทบทวนคือ การบังคับใช้กฎหมายที่อาศัยการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นหลักก็คือ การไล่จับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งๆ ที่อยู่ ณ จุดขาย โดยใช้ระบบกล่าวหาว่ามีความผิด ซึ่งจะมีความผิดหรือไม่ก็ต้องไปต่อสู้คดีกันในกระบวนการยุติธรรม แต่จะต้องประกันตัวซึ่งมีอัตราเงินค่าประกันตัวใกล้เคียงกับค่าปรับก่อน แต่ถ้าไม่ประสงค์จะต่อสู้คดีก็สามารถทำการเปรียบเทียบได้โดยการเสียค่าปรับ ซึ่งค่าปรับนั้นจะถูกแบ่งจ่ายให้กับผู้แจ้งความนำจับ เจ้าหน้าที่ผู้จับ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินงานตามหน้าที่ อันได้มาซึ่งค่าปรับนั้น เรียกว่า “เงินสินบนรางวัล” โดยมีจำนวนสูงสุดถึง 80% ของค่าปรับ ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบันเทิง เป็นอย่างมาก เพราะเหตุที่เป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยใช้ดุลพินิจ

นายธนากรกล่าวอีกว่า จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น คงจะต้องมาพิจารณาในกรณีที่หากเกิดการแพร่ระบาดใหม่และสร้างผลกระทบจากการเปิดประเทศ จะต้องทำอย่างไร ผมเห็นว่า รัฐบาลเองหรือ ศบค. ก็ได้ออกพระราชกำหนดในการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว ซึ่งสามารถมีประกาศหรือคำสั่งใดได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ได้ หากมีกรณีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในการบริหารความเสี่ยง นายกฯได้แถลงการณ์ไว้อย่างชัดเจนว่า หากมีสถานการณ์ร้ายแรงใหม่เกิดขึ้น หรือมีความจำเป็นจริงๆ ก็ให้พิจารณาเป็นกรณีไป” คือถ้ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นนายกฯก็จะดำเนินการทันที ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีอย่างมีหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม มิใช่มีแต่ห้าม หรือปิดประเทศโดยไม่ทำอะไรเลย ในนามของภาคเอกชนก็ขอแสดงความขอบคุณเป็นอย่างยิ่งและขอให้ความร่วมมือต่อการตัดสินใจของท่านนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ด้วย ขอฝากไปยังภาคเอกชนทั้งหลายที่จะต้องให้ความร่วมมือต่อภาครัฐในการส่งเสริมสนับสนุนการให้พนักงานลูกจ้างเข้ารับการฉีดวัคซีน และปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดแม้จะได้ฉีดวัคซีนแล้ว คือ ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ตรวจเช็คอุณหภูมิในสถานที่ที่จะเข้าไป จนกว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และได้มีประกาศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image