ครบ 1 ปีกลุ่มแคร์ ‘คำ ผกา’ ชำแหละเศรษฐกิจไทย เสนอ ‘ประกันรายได้ถ้วนหน้า’ ทางออกเร่งด่วนประเทศ

ครบ 1 ปีกลุ่มแคร์ ‘คำ ผกา’ ชำแหละภาพรวมเศรษฐกิจไทย เสนอ ‘ประกันรายได้ถ้วนหน้า’ ทางออกเร่งด่วนประเทศ ย้ำ ปชช.ต้องการปลา ไม่ใช่เบ็ด

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 17 มิถุนายน กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย จัดงานเสวนาแบบเสมือนจริง CARE THE FUTURE ในวาระครบรอบ 1 ปีของการก่อตั้งกลุ่มแคร์ โดยในช่วงแรกเริ่มในหัวข้อ “คนไทย ไร้จน” UBI : รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ยกระดับสวัสดิการเพื่อคนไทย โดย “คำ ผกา” น.ส.ลักขณา ปันวิชัย นักเขียนและพิธีกรชื่อดัง

น.ส.ลักขณาฉายภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยว่า ปี 2019 เรามีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.06 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของจีดีพี ประชากรร้อยละ 10 ของประเทศทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ หรือ 7 ล้านคน แต่จากสถานการณ์โควิด-19 หลายๆ สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจคาดว่าครึ่งปีหลังของปี 2564 หากทุกอย่างเริ่มคลี่คลายจะทำให้เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 1.25 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศ 64,000 ล้านบาท ถ้าลองเอาตัวเลข 64,000 ล้านบาท เทียบกับตัวเลข 3.06 ล้านล้านบาทว่ารายได้ของประเทศหายไปเท่าไหร่

น.ส.ลักขณากล่าวว่า ปี 2549 ระดับหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ร้อยละ 44.4 ของจีดีพี มาถึงปี 2564 ระดับหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งไปที่ร้อยละ 89 และอาจไปได้ถึงร้อยละ 92 คิดเป็นมูลค่า 14.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อบ้าน ร้อยละ 34 ที่เหลือเป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภค และมาดูหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ย ร้อยละ 3 เท่ากับร้อยละ 1,000 ต่อปี

Advertisement

“ข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปี 2560 พบว่า คนไทยใน 10 ล้านครัวเรือนมีหนี้สิน โดย 91% เป็นหนี้ในระบบอย่างเดียวเฉลี่ยประมาณ 1.5 แสนบาท/ครัวเรือน ขณะที่อีก 4.9% เป็นหนี้นอกระบบประมาณ 3,346 บาท/ครัวเรือน บางรายเป็นหนี้นอกระบบสูงกว่า 3.8 หมื่นบาท/คน และอีก 3.7% เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ และอาชีพกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจ แรงงาน จะเป็นกลุ่มคนที่มีหนี้มากที่สุด แต่ที่น่าตกใจคือ 79% เคยผิดช้ำระหนี้

“ตัวเลขคนยากจนในประเทศไทย แม้ไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนจากเดิมที่ร้อยละ 65.2 ในปี 2531 จนเหลือร้อยละ 9.85 ในปี 2561 แต่อัตราการลดลงนั้นค่อยๆ ช้าลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2561 ประชากรที่ยากจนมีจำนวน 6.7 ล้านคน เพิ่มจากปี 2558 มา 1.8 ล้านคน (คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 7.21 เพิ่มเป็นร้อยละ 9.85)

Advertisement

“กรุงเทพฯ มีอัตราการลดลงของความยากจนเร็วที่สุด ขณะที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีอัตราการลดความยากจนช้าที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่เปราะบาง และในทางจำนวน พบว่าในปี 2558-2561 จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนคนในพื้นที่ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ” น.ส.ลักขณากล่าว

น.ส.ลักขณากล่าวอีกว่า เมื่อดูความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในไทย จำนวนสินทรัพย์ของคนทั้งประเทศไทยมากกว่า 77% กระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่สุดของไทยที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด เมื่อสำรวจปัจจัยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำพบว่าคนไทยกว่า 31% ทำงานในภาคเกษตร แต่กลับเจอราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งมิติโอกาสทางการศึกษา กลุ่มคนรายได้น้อยจะเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้น้อย สิทธิแรงงานอยู่ในระดับต่ำ ค่าแรงที่เติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจ นอกจากนี้นโยบายของรัฐยังซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ โควิด-19 กระทบรายได้กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า ประเทศไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง

น.ส.ลักขณาย้ำว่า ประเทศบอบช้ำขนาดนี้ สำหรับดิฉัน ทางออกเร่งด่วนของประเทศไทยคือ การประกันรายได้ถ้วนหน้า (Universal Basic Income-UBI) โดยกรอบคิดหลักของ UBI ไม่มีอะไรเลย เป็นสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดในโลก มาจากแนวคิดที่ว่าทุกคนบนโลกใบนี้สมควรที่มีเข้าถึง หรือได้รับมาตรฐานการดำรงชีวิตขั้นต่ำ ไม่ว่าเขาจะทำงาน หรือไม่ทำงาน จะขยันหรือ ขี้เกียจ จะโง่ หรือฉลาด หากเราคิดว่ามนุษย์คนหนึ่งต้องมีเสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ควรได้รับสิ่งเหล่านั้นพื้นฐานที่ต่ำที่สุดเท่าที่ชีวิตของพวกเขาพึงมี

น.ส.ลักขณากล่าวว่า เรียบง่ายกว่านั้น UBI ไม่ต้องการยืนยัน หรือพิสูจน์ตัวตน ความยากจน ความขยัน ความมุ่งมั่นใดๆ ทั้งสิ้น UBI คือการแจกปลา และเป็นปลาที่ทอดสุกแล้ว พร้อมกิน เพราะคนในสังคมของเราจำนวนมากไม่มีแรงแม้แต่จะเดินออกจากบ้านไปที่แม่น้ำเพื่อตกเบ็ด หรือ ต่อให้เราให้เบ็ดเขาไป แม่น้ำก็อยู่ไกลจากเขาเกินไป และที่สำคัญในแม่น้ำนั้นก็ไม่มีปลาด้วย

“UBI เพิ่มความสุข ลดความเครียด เพิ่มความไว้วางใจของผู้คนในสังคมที่มีต่อกัน ลดปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากความยากจน ลดปัญหาทางสุขภาพ เพิ่มโอกาสในการศึกษา ในระยะยาว สิ่งเหล่านี้คือสุขภาวะของสังคมโดยรวมที่ประเมินค่าออกมาเป็นตัวเงินไม่ได้ด้วยซ้ำไป” น.ส.ลักขณากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image