กสทช. ชี้ ยืนยันตัวบุคคลใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง แค่ “โอทีพี” เอาไม่อยู่ แนะเพิ่มคำถามเฉพาะตัวบุคคล-ไบโอแมทริกซ์ ธปท.แนะวิธีป้องกันฉกเงินผ่านออนไลน์

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยในงานเสวนา เรื่อง “ขโมยเงินออนไลน์ผ่านมือถือ : จากกรณีปัญหาสู่การแก้ไขเชิงระบบ” จัดที่โรงแรมเดอะ สุโกศล ว่า จากกรณีที่มีหนุ่มประดับยนต์โดนโจรกรรมเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ(โมบายแบงก์กิ้ง)ไปเกือบ 1 ล้านบาท รวมถึงเรื่องร้องเรียนในทำนองเดียวกันก็มีมากเป็นอัดับต้นๆในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะอยู่กับเทคโนโลยีแต่จะทำอย่างไรให้มีมาตรการความปลอดภัยที่ดีขึ้น เป็นระบบที่ตอบสนองทั้งความสะดวกและความปลอดภัย มีความรับผิดชอบต่อที่ผู้ใช้ระบบที่จะยอมรับได้ ซึ่งจากงานเสวนาที่จัดครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ต้องการให้มีการยกระดับมาตรฐานการยืนยันตัวบุคคลในการทำธุรกรรมต่างๆ เนื่องจากการส่งรหัสชั่วคราว(One Time Password : โอทีพี) ไปทางเอสเอ็มเอสนั้นไม่เพียงพอแล้ว การเสวนาครั้งนี้ต่างเห็นตรงกันว่าควรเพิ่มเรื่องของการถามคำถามส่วนบุคคล ที่เฉพาะเจ้าตัวเท่านั้นที่รู้ หรือเพิ่มในส่วนของเทคโนโลยีไบโอแมทริกซ์ เช่น การตรวจสอบลายนิ้วมือเข้ามาใช้งานสำหรับบัญชีที่มียอดใช้งานสูงๆ

นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจยังพบว่ามีผู้ใช้บริการการทำธุรกรรมทางโมบายแบงก์กิ้งหลายคนที่ไม่ต้องการหรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้บริการดังกล่าว แต่ต้องสมัครเพราะทำตามคำชักชวนหรือเกรงใจเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินที่มักเชิญชวนลูกค้าให้สมัครโมบายแบงก์กิ้งเมื่อมีการเดินทางไปทำธุรกรรมต่างๆที่ธนาคาร ส่วนตัวเห็นว่าหากผู้ใช้งานไม่มีความจำเป็นต้องใช้หรือไม่อยากใช้ก็ไม่ควรสมัครด้วยความเกรงใจ เพราะการตระหนักรู้หรือป้องกันปัญหาจากเทคโนโลยีคนผู้ใช้งานนั้นต่างกัน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่อาจมีความเข้าใจและแนวทางป้องกันปัญหาจากมิจฉาชีพที่อาจแฝงตัวมาได้น้อยกว่าคนหนุ่มสาว เป็นต้น

นายธนะสิทธิ์ สรรพโชติวัฒน์ ผู้บริหารส่วนตรวจสอบความเสี่ยงและเทคโนโลยี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งในประเทศไทยกว่า 10 ล้านราย โมบายแบงก์กิ้ง 12.9 ล้านราย และปีนี้มีจำนวนผู้ใช้โมบายแบงก์กิ้งเพิ่มสูงถึง 4 ล้านราย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อมีการใช้งานโมบายแบงก์กิ้งมากขึ้นก็จะทำให้มิจฉาชีพเริ่มหันมาโจรกรรมผ่านช่องทางดังกล่าวมากขึ้นด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดควรเริ่มต้นด้วยตัวเอง โดยการติดตั้งโปรแกรมป้องกันภัยคุกคาม ,การติดตั้งรหัสปิดล็อกหน้าจอโทรศัพท์มือถือ, หมั่นตวรจสอบข้อมูลการเงิน, หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายไวไฟสาธารณะ และ ติดตามข่าวภัยคุกคามและหาทางแก้ไขป้องกันให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งในส่วนของ ธปท. และสมาคมธนาคารไทยได้ติดตามการตรวจสอบและประเมินความพร้อมของธนาคารพานิชย์อยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการทำธุรกรรมผิดปกติของสถาบันการเงิน จึงถือว่าผู้ให้บริการผ่านการกลั่นกรองระดับหนึ่งธปท.และสถาบันการเงินได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดในการติดตามตรวจสอบให้ระบบทำงานด้วยความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การป้องกันปัญหาควรทำทั้งที่ตัวผู้ใช้งานระบบ, ผู้ให้บริการโทรศัพท์และสถาบันการเงิน ต้องมีการระมัดระวังตัวเอง โดยต่างประเทศมีกฎหมายดูแลการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยผู้ใช้งานต้องแจ้งทันทีที่มีความผิดปกติเพื่อได้รับการคุ้มครอง มีข้อกำหนดในการพิสูจน์ตัวตนสองชั้น ได้แก่ การส่งรหัสโอทีพี และถามคำถามส่วนบุคคลที่เจ้าตัวเท่านั้นที่รู้ รวมทั้งธนาคารต้องมีระบบเตือนการทำธุรกรรมผิดปกติ เช่นการโอนเงินถี่ๆในเวลาไล่เลี่ยกัน หรือการโอนเงินในช่วงเวลากลางคืนทั้งที่ผู้ใช้งานไม่เคยทำ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ทางธนาคารควรรีบแจ้งไปยังเจ้าของบัญชีรับทราบ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการป้องกันปัญหา ทางทีดีอาร์ไอ อยากเสนอให้ 1.มีหลักเกณฑ์กำกับดูแลมาตรฐานการยืนยันตัวบุคคลในการทำธุรกรรมการเงินที่ครอบคลุมอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และโมบายแบงก์กิ้ง และ 2.กำหนดสัดส่วนการรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายที่ชัดเจนทั้งผู้บริโภค สถาบันการเงิน และค่ายมือถือ เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง มิเช่นนั้นแล้วทางสถาบันการเงินก็พยายามมุ่งแต่เพิ่มยอดใช้งานโดยไม่ระวัง เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image