คิดเห็นแชร์ : ตลกร้ายของวงการตลาดการเงิน

คิดเห็นแชร์ : ตลกร้ายของวงการตลาดการเงิน

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ผมจะขอแชร์มุมมองต่อสถานการณ์ตลาดการเงินทั่วโลกในขณะนี้ที่กำลังเกิดความวิตกกังวลต่อการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve System หรือ Fed) หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งถือเป็น “ตลกร้าย” ของวงการการเงินโลก ที่กำลังกลัวต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก

ผลการประชุม Fed ครั้งล่าสุด ช่วงวันที่ 15-16 มิถุนายน 2564 กรรมการได้ทำการปรับมุมมองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมในปี 2567 มาเป็นปี 2566 โดยอิงจากแผนภาพ Dot-Plot จะพบว่า Fed อาจทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปี 2566 และที่ประชุมได้มีการปรับเพิ่มประมาณการ GDP สหรัฐ ปี 2564 จากเดิม 6.5% เป็น 7.0% ยิ่งส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลก เกิดความวิตกกังวลว่า Fed จะเริ่มมาตรการชะลอการซื้อพันธบัตร (QE Tapering) เร็วขึ้นกว่าที่ตลาดเคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ผมเคยเขียนบทความเรื่องอัตราดอกเบี้ยกับภาวะการลงทุนในตลาดการเงินไว้เมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมาและสถานการณ์ล่าสุดยังถือว่าใกล้ตามที่คาด อย่างไรก็ดี เมื่อนักลงทุนเกิดการ “เสพติดอัตราดอกเบี้ยต่ำ” มานาน เพียงแค่ Fed แถลงถึงโอกาสในการปรับลดมาตรการ QE ตลาดการเงินทั่วโลกก็พร้อมที่จะเกิดความโกลาหลทันที โดยที่ Fed ยังไม่ได้ทำการปรับลดมาตรการหรือเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยซ้ำ

ผลที่ตามมาของการลดมาตรการ QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดการเงิน เช่น 1.ความผันผวนที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในตลาดปริวรรตเงินตรา กล่าวคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้น (ในทางกลับกัน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ) 2.ความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ กล่าวคือ เมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในเชิงเปรียบเทียบ ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร ฯลฯ ก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง (กรณีที่ปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัจจัยด้านอุปสงค์-อุปทานคงที่) และ 3.ตลาดพันธบัตร กล่าวคือ ราคาพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

และที่สำคัญคือ “ตลาดหุ้น” กล่าวคือ เมื่อสภาพคล่องที่ล้นตลาดการเงินซึ่งเป็นผลจากมาตรการ QE ของ Fed ลดลง มีโอกาสที่จะเกิดการไหลออกของเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่ (มีโอกาสเห็นการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องมากขึ้น) และเมื่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกเริ่มกลับมาเป็นแนวโน้มค่าขึ้น ก็จะกลับเป็น “ลบ” ต่อ Valuation ของตลาดหุ้นในเชิงทฤษฎีทันที หรืออธิบายง่ายๆ คือ อัตราส่วน PE ของตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับลดลง จากระดับในปัจจุบันที่ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับสถิติในอดีต ดังนั้นหากกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้ทันต่อการสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เท่ากับว่า ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทยจะมีการปรับลดลง

Advertisement

ความหวังเดียวของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปลายปี 2564-ปี 2565 ว่าจะสามารถเร่งตัวขึ้น และช่วยดึงกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยให้ปรับขึ้นทันกับการปรับมาตรการการเงินของ Fed รวมทั้งธนาคารของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีโอกาสจะปรับมาตรการการเงินตาม Fed หรือไม่ โดยผมประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ภาคการผลิตและส่งออก มีการเติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจโลกได้ดีแล้ว ภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ก็คือเป็นบวกต่อภาคการเกษตรของไทย เหลือเพียงเครื่องจักรตัวสุดท้ายคือ “การท่องเที่ยว” ที่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุด ว่าจะสามารถควบคุมได้เร็วเพียงใด

ซึ่งหวังว่าการเริ่มปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ในขณะนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาทำงานได้ตามปกติได้ทันช่วง High season ปลายปีนี้

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image